จริงหรือไม่? ฝังเข็ม เพิ่มความสูงได้?

จริงหรือไม่? ฝังเข็ม เพิ่มความสูงได้?

จริงหรือไม่? ฝังเข็ม เพิ่มความสูงได้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การฝังเข็ม เป็นแพทย์แผนจีนอีกแขนงหนึ่งที่เป็นทางเลือกของหลายๆ คนที่มีอาการผิดปกติต่างๆ และสามารถรักษาโรค และอาการผิดปกติของร่างกายได้หลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือแม้กระทั่งลดความอ้วน แต่อีกข้อหนึ่งที่เป็นที่สงสัยกันว่า “ฝังเข็ม ช่วยได้จริงๆ หรือ” คือ การเพิ่มความสูง

ข้อนี้ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้คำตอบเพื่อยืนยันแล้วว่า การฝังเข็ม ไม่ช่วยให้เรามีความสูงเพิ่มขึ้น หากร่างกายของเราอยู่ในช่วงที่ “หยุดสูง” แล้ว รายละเอียดเป็นอย่างไร อ่านได้ตามโพสจากเฟซบุ๊คของอาจารย์ด้านล่างเลยค่ะ

____________________

"ฝังเข็ม ไม่ได้เพิ่มความสูง ถ้าหยุดสูงแล้ว"

 

วันนี้มีคนหลังไมค์มาถามเยอะเลยเรื่อง "การฝังเข็มเพิ่มความสูง" ว่าเป็นไปได้มั้ย เห็นมีหลายที่โฆษณาให้ไปทำ บ้างก็ว่าเพิ่มขึ้นเร็วมากได้ตั้ง 3-4 เซนติเมตรใน 1 เดือน แถมบอกว่า "ถึงหยุดสูง กระดูกปิดแล้ว ก็เพิ่มความสูงได้" .... เตือนเลยว่าให้ระวังนะครับ โฆษณากันไปเกินไกลจริงแล้ว !!

คือ ต้องแยกแยะก่อนนะ "การฝังเข็มเพิ่มความสูง" เนี่ย จะเป็นแนวทางการแพทย์แผนจีน แพทย์ทางเลือก อ้างเรื่องการปรับพลังปรับลมปราณในร่างกาย ไม่ได้มีข้อมูลรองรับเชิงวิทยาศาสตร์ตามการแพทย์กระแสหลักซักเท่าไหร่

 

คำอธิบายที่ฟังพอรับได้ ก็คือว่า การฝังเข็มนั้น จะไปกระตุ้นร่างกายให้ผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมน โดยเฉพาะ growth hormone นั้นดีขึ้น ดังนั้น ถ้าทำใน "เด็ก" อายุระหว่าง 10-18 ปี ที่กระดูกยังไม่ปิด ยังมีสิทธิที่จะสูงได้นั้น ก็พอเป็นไป และการฝังเข็มนี้ จะทำเสริมจากปัจจัยอย่างอื่นที่จำเป็นสำหรับเด็กในการที่จะสูงขึ้น คือ พันธุกรรม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ (สรุปจากข้อมูลของโรงพยาบาลสมิติเวช)

ดังนั้น ถ้าเกิดมีสถานประกอบการไหน อ้างว่า ถึงหยุดสูงแล้ว ก็ฝังเข็มให้สูงได้ หรืออ้างว่าฝังแล้วจะสูงปี๊ดๆๆ ในเวลาอันสั้นผิดมนุษย์มนา อันนั้นก็อย่าไปหลงเชื่อง่ายๆ ครับ ... อายุเกินแล้ว แต่ไม่สูง ก็ต้องยอมรับความจริงครับ !

 

ที่สำคัญ คือ การที่เราๆ ท่านๆ จะไปฝังเข็มเพื่อเพิ่มความสูง หรือเพื่อรักษาโรค หรือเพื่อเสริมความงาม ก็ต้องเช็คก่อนว่าคนที่ทำให้นั้น เป็นแพทย์จริงๆ ที่ผ่านการอบรมวิชาการฝังเข็มหรือเปล่า โดยสังเกตจากใบประกาศนียบัตรของกรมการแพทย์ ถึงจะมั่นใจในความปลอดภัยได้ครับ (ดูคำเตือนของ ก.สาธารณสุข ได้ที่นี่)

-----

 

 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ประกาศยอมรับการรักษาโรค หรือบรรเทาอาการต่างๆ ด้วยวิธีฝังเข็มเอาไว้ดังนี้

  1. การรักษาที่ได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษ

อาการปวด โรคปวดคอเรื้อรัง, หัวไหล่, ข้อศอก, กระดูกสันหลัง, เอว, หัวเข่า, ปวดจากการเคล็ดขัดยอก, ปวดประจำเดือน, ปวดนิ่วในถุงน้ำดี, ปวดศรีษะที่มีสาเหตุจากความเครียดหรือก่อนการมีประจำเดือน, ปวดไตเนื่องจากสาเหตุต่างๆ, ปวดในทางเดินปัสสาวะ, ปวดเส้นประสาทหรือปวดเส้นประสาทบนใบหน้า, ปวดหลังผ่าตัด, ปวดไม้ดำเกรน, อาการซึมเศร้า, อัมพฤกษ์ และผลข้างเคียงหลังจากป่วยด้วยโรคทางสมอง, ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ, เม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ, สมรรถภาพทางเพศถดถอย, ภูมิแพ้, หอบหืด, หวาดวิตกกังวล, นอนไม่หลับ ขากรรไกรค้าง, แพ้ท้อง, คลื่นเหียนอาเจียน, การเลิกเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด

 

  1. การรักษาที่ได้ผลดี

อาการเจ็บเฉียบพลัน หรือเรื้อรังในลำคอ (ต่อมทอมซิล), อาการวิงเวียนศรีษะสาเหตุจากน้ำในช่องหู, สายตาสั้นในเด็ก, เด็กในครรภ์มารดาอยู่ในท่าขวาง (ทำให้คลอดยาก) , โรคอ้วน, โรคประสาท, การปวดของเส้นประสาทสะโพก, เส้นเอ็นอักเสบ, ปวดลำไส้เนื่องจากพยาธิ, อาการผิดปกติของลำไส้เมื่อเกิดความเครียด

 

  1. การรักษาที่ได้ผล

ท้องผูก, ท้องเดิน, การมีบุตรยาก ที่มีสาเหตุจากทั้งฝ่ายชาย, และฝ่ายหญิง, กระเพาะอาหารเลื่อนต่ำ, สะอึก, เรอบ่อย,ปัสสาวะไม่รู้ตัว ไม่คล่อง, ไซนัลอักเสบ, หญิงหลังคลอดมีน้ำนมไม่พอ

 

ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาอาการต่างๆ ด้วยการฝังเข็ม ควรปรึกษาแพทย์ และตรวจร่างกายก่อน เพื่อดูว่าเราสามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่ และวิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมต่อการรักษาอาการนั้นๆ หรือไม่ค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook