ฟันคุดคืออะไร? ทำไมต้องผ่าฟันคุด? ไม่ผ่าได้ไหม?

ฟันคุดคืออะไร? ทำไมต้องผ่าฟันคุด? ไม่ผ่าได้ไหม?

ฟันคุดคืออะไร? ทำไมต้องผ่าฟันคุด? ไม่ผ่าได้ไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทพ.นิวัฒน์ พันธุ์ไพศาล
งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

ฟันคุดคืออะไร

ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 - 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่น ๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย

จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด

จากการตรวจในช่องปาก ถ้าพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าน่าจะมีฟันคุด เพื่อให้แน่ใจก็ควรจะเอกซเรย์ดู ก็จะทำให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง การเอกซเรย์ฟิล์มพานอรามิกจะเห็นฟันทั้งหมดในกระดูกขากรรไกรทั้งบนและล่าง รวมถึงพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกร

ทำไมถึงต้องผ่าฟันคุด

การผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ ได้แก่

1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่

3. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่ พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป

4. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น

5. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

6. วัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ในการจัดฟัน ต้องถอนฟันกรามซี่ที่ สาม ออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ

impacted-tooth-2

ขั้นตอนการผ่าฟันคุดมีอะไรบ้าง น่ากลัวอย่างที่เขาบอกกันหรือเปล่า

การผ่าตัดฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน แล้วใช้เครื่องกรอตัดฟันออกมา ล้างทำความสะอาดและเย็บแผลปิด เท่านี้ก็เสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล

หลังผ่าตัดฟันคุดแล้วจะมีอาการอะไรบ้าง จะพูดหรือรับประทานอาหารได้ไหม

อาการที่พบได้หลังการผ่าตัดฟันคุดคือ จะมีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มด้านที่ทำผ่าตัดสัก 2 - 3 วัน อ้าปากได้น้อยลง ทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะที่ได้รับไปอาการก็จะบรรเทาลงได้ เรื่องอาหารคงต้องทานอาหารอ่อนไปก่อนสักระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผล ส่วนการพูดก็พูดได้ตามปกติ แต่อย่าพูดมากนักเดี๋ยวจะเจ็บแผลได้

หลังผ่าตัดฟันคุดจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

คำแนะนำหลังการผ่าตัดฟันคุดมีดังนี้

1. กัดผ้าก๊อซนาน 1 ชั่วโมง กลืนน้ำลายตามปกติ

2. ห้ามบ้วนเลือดและน้ำลาย เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้

3. หลังคายผ้าก๊อซแล้ว ถ้ามีเลือดซึมจากแผลผ่าตัด ให้ใช้ผ้าก๊อซที่สะอาดกัดใหม่อีกประมาณ ½ ชั่วโมง

4. ประคบน้ำแข็งบริเวณแก้ม เฉพาะวันที่ทำผ่าตัด

5. รับประทานอาหารอ่อน

6. รับประทานยาให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง

7. งดออกกำลังกาย หรือ เล่นกีฬา

8. แปรงฟันทำความสะอาดในช่องปากตามปกติ

9. ตัดไหมหลังผ่าตัด 7 วัน

10.หากมีปัญหาหรือผลแทรกซ้อนเกิดขึ้น กลับมาพบทันตแพทย์ได้ก่อนวันนัด

การผ่าตัดฟันคุดมีอันตรายหรือผลแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง

ผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดฟันคุดที่พบได้ เช่น หลังคายผ้าก๊อซแล้วยังมีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ มีไข้หรือมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัด หลังผ่าตัด 2 - 3 วันแล้วอาการปวดบวมยังไม่ทุเลา แต่กลับมีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือมีอาการชาของริมฝีปากล่างนานผิดปกติทั้งที่หมดฤทธิ์ชองยาชาแล้ว ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ได้ทันที เพื่อหาทางแก้ไข
แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ไม่ต้องกังวลจนกลัวแล้วไม่ยอมไปผ่าตัดฟันคุด เพราะถ้าเก็บฟันคุดไว้กลับจะมีอันตรายมากยิ่งกว่าเสียอีก

ถ้าอย่างนี้แล้วจะป้องกันอันตรายจากฟันคุดได้อย่างไร

อันนี้ไม่ยากเพียงแค่ท่านไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์ฟันก็จะทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยผ่าฟันคุดออกเสียก่อนที่จะมีอาการปวดบวม หรือทำให้ฟันข้างเคียงมีปัญหา การผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย (18 - 25 ปี) สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็ต่ำ เพราะฉะนั้นมีฟันคุดแล้วอย่ารั้งรอ รีบผ่าตัดออกเสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดผลเสียในภายหลัง

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook