หูดข้าวสุก โรคแฝงที่พบบ่อยในเด็กช่วงหน้าร้อน

หูดข้าวสุก โรคแฝงที่พบบ่อยในเด็กช่วงหน้าร้อน

หูดข้าวสุก โรคแฝงที่พบบ่อยในเด็กช่วงหน้าร้อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์ แนะหมั่นดูแลบุตรหลานในช่วงปิดเทอม หากพาไปทำกิจกรรม ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ สระว่ายน้ำ ให้รีบทำความสะอาดร่างกายหลังทำกิจกรรม รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสหูดข้าวสุกที่สามารถติดต่อโดยง่ายในเด็ก

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูร้อน ประกอบกับเป็นเวลาที่เด็กนักเรียนกำลังปิดเทอม ผู้ปกครองจึงมองหากิจกรรมให้เด็กๆได้ผ่อนคลายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนสาธารณะ  สระว่ายน้ำ เป็นต้น ซึ่งสถานที่เหล่านี้มักมีประชาชนจำนวนมากมาทำกิจกรรมร่วมกัน อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ หากสถานที่เหล่านั้นไม่มีระบบการจัดการด้านสุขอนามัยที่ดี ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปสู่เด็ก เนื่องจากเด็กเล็กมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

โดยเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในสถานที่ที่มีความร้อนชื้น คือ ไวรัสหูดข้าวสุก พบได้ในเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปและติดต่อโดยการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรงจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ สามารถเข้าทางผิวหนังที่เป็นแผลและแพร่กระจายจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งได้จากการสัมผัส อาการที่พบในเด็ก คือ มีลักษณะเป็นตุ่มใสขนาดเล็กมีสีเนื้อรูปโดม เป็นหลุมตรงกลางบริเวณใบหน้า มักพบในบริเวณที่สัมผัสหรือเสียดสีกัน เช่น ข้อพับแขน รักแร้ ขาหนีบ อากาศร้อนและความชื้นสูงจะทำให้เป็นมากขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดี หากมีการแกะเกาจะมีอาการบวม แดง ผิวหนังอักเสบและเป็นหนองได้

ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติทางร่างกายของบุตรหลาน หากพบว่ามีลักษณะอาการข้างต้น ควรรักษาแต่เนิ่นๆเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งแพทย์อาจใช้เข็มสะอาดแคะก้อนในหูดออก หรือทายากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และต้องใช้ระยะเวลารักษาติดต่อกันหลายเดือน

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากพบประวัติการติดเชื้อของผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดในสถานที่ที่ค่อนข้างชื้น เช่น สถานที่ออกกำลังกายสาธารณะ สระว่ายน้ำหรือการใช้อ่างอาบน้ำร่วมกัน ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานภายหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหูดข้าวสุกเพราะโรคนี้สามารถติดต่อได้โดยง่ายจากการสัมผัสผิวหนังระหว่างกัน

ดังนั้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดเป็นประจำ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หากมีความจำเป็นให้ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า รองเท้า และไม่ควรว่ายน้ำในขณะที่มีบาดแผล เพราะจะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook