น้ำตาลทำไมต้อง 6 ช้อนชา?

น้ำตาลทำไมต้อง 6 ช้อนชา?

น้ำตาลทำไมต้อง 6 ช้อนชา?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การบริโภคน้ำตาลมากจากเครื่องดื่ม ขนมหวาน หรือจากน้ำตาลโดยตรง เป็นต้นเหตุของฟันผุ เนื่องจากน้ำตาลถูกเปลี่ยนเป็นกรด โดยแบคทีเรียในปาก ทำให้เกิดการกัดกร่อนของเคลือบฟัน และที่สำคัญ การบริโภคน้ำตาลปริมาณสูงเป็นประจำ นำไปสู่การเพิ่ม ของน้ำหนักตัว และอ้วนในที่สุด เนื่องจากเป็นพลังงานส่วนเกินที่เก็บสะสมไว้ได้ในร่างกายในรูปของไขมัน ภาวะอ้วนเป็นการเริ่มต้น ของปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ตามมา ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ดังนั้น การจำกัดการบริโภคน้ำตาลจึงเป็นจำเป็นที่จะต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ และต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะหากเกิดความเคยชินที่ได้รับ รสหวานตั้งแต่เล็ก ก็จะทำให้ติดรสหวานและเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กเป็นผู้เลือกอาหารให้เด็ก จึงควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับตัวเด็กในวันข้างหน้า โดยการเลือกนมหรืออาหารต่าง ๆ และปรุงอาหารที่ไม่ต้องมีการ เติมน้ำตาล น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีสารอาหารอื่น จึงถือเป็นพลังงานว่างเปล่า (Empty calorie) เราได้รับ แหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจากข้าว-แป้ง ซึ่งมีสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นประจำอยู่แล้ว และได้รับน้ำตาล ธรรมชาติจากผลไม้เป็นแหล่งพลังงานและวิตามินแร่ธาตุอีกด้วย

นักวิชาการด้านสาธารณสุข ประกอบไปด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ และนักโภชนาการ มีความเห็นตรงกันว่าการบริโภคน้ำตาลแต่น้อย ย่อมลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณ พลังงานที่ได้รับประจำวัน ประกอบกับ ข้อแนะนำการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า …

น้ำมัน เกลือ น้ำตาลกินแต่น้อยเท่าที่จำเป็น…

และได้มีการกำหนดปริมาณน้ำตาลว่าไม่ควรเกิน 4, 6 และ 8 ช้อนชา สำหรับผู้ต้องการพลังงาน 1600, 2000 และ 2400 กิโลแคลอรี ซึ่งเท่ากับประมาณร้อยละ 5 โดยเฉลี่ย ทั้งนี้ได้มีการเผื่อไว้สำหรับการได้รับน้ำตาลจากอาหารอื่นโดยไม่ทราบปริมาณ

ดังนั้น "เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน" จึงแนะนำปริมาณน้ำตาลสำหรับประชากรโดยทั่วไป ….ควรบริโภคไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม …..ซึ่ง เท่ากับร้อยละ 7, 6, 5 และ 4 ของปริมาณพลังงาน 1400, 1600, 2000, และ 2400 กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นปริมาณ พลังงานที่แนะนำสำหรับเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่และวัยรุ่น และผู้ที่ใช้พลังงานมาก ตามลำดับ

แหล่งข้อมูล : เอกสารเผยแพร่ เครือข่าย "เด็กไทยไม่กินหวาน"
เรียบเรียงโดย: รศ. ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล
สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook