ไขปัญหาข้องใจ "ไซนัสอักเสบ" เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไขปัญหาข้องใจ "ไซนัสอักเสบ" เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไขปัญหาข้องใจ "ไซนัสอักเสบ" เกิดขึ้นได้อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไซนัส คืออะไร ? 

ไซนัส ก็คือ โพรงอากาศเล็กๆ ที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะบริเวณรอบๆ จมูก โดยจะมีทางเชื่อมสำหรับเปิดโพรงจมูกอยู่หลายจุดทั้งด้านซ้ายและด้านขวา มีหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชื้นแก่อากาศที่เราสูดเข้าไปในทางเดินหายใจ อีกทั้งยังช่วยในการปรับเสียงพูด ช่วยในเรื่องของการรับรู้กลิ่น รวมถึงสร้างเมือกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก 

ภายในเยื่อบุโพรงไซนัส (โพรงอากาศ) จะมีขนอ่อน หรือที่เรียกกันว่า Cilia ทำหน้าที่โบกพัดเพื่อระบายเอาเมือกที่เป็นเสมหะ หรือน้ำมูกออกมา ซึ่งในภาวะปกติจะมีการระบายของเมือกที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสลงมาที่รูเปิดในโพรงจมูกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้าหากรูนั้นถูกปิดกั้นจากอาการต่างๆ อาทิ อาการเป็นหวัด ที่เยื่อบุจมูกและไซนัสจะมีลักษณะที่อักเสบบวม อาการติดเชื้อ หรือภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด หรือมีริดสีดวงจมูก ก็จะทำให้เมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายเมือกออกมาได้ ทำให้เกิดการสะสมหมักหมมจนกลายเป็นแหล่งอาหารสำหรับเชื้อโรคที่ใช้ในการเจริญเติบโตลุกลามจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัส ส่งผลให้เยื่อบุไซนัสอักเสบบวม ขนอ่อนในโพรงไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือก อีกทั้งการสะสมของเมือกก็จะมีมากขึ้นกลายเป็นหนองขังอยู่ในโพรงไซนัส เป็นเหตุให้เกิดอาการของโรคไซนัสอักเสบได้

ประเภทของอาการไซนัสอักเสบ 

อาการของไซนัสอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้ 

  • ชนิดเฉียบพลัน มีอาการน้อยกว่า 30 วัน

  • ชนิดกึ่งเฉียบพลัน มีอาการอยู่ระหว่าง 30 - 90 วัน

  • ชนิดเรื้อรัง มีอาการมากกว่า 90 วัน

 

อาการอักเสบอาจเกิดขึ้นกับไซนัสได้ทุกตำแหน่ง ได้แก่ 

  • ไซนัสข้างตา (Ethmoid sinus)

  • ไซนัสหน้าผาก (Frontal sinus)

  • ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) เป็นไซนัสประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด

  • ไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ (Sphenoidal sinus)

 

ไซนัสอักเสบ นับเป็นโรคติดต่อหรือไม่ ? 

ไซนัสอักเสบ นั้นไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคเฉพาะที่เกิดขึ้นกับบุคคลซึ่งสามารถพบได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศชื้น อีกทั้งยังสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ประมาณ 3 - 5% ของผู้ป่วยที่มาตรวจที่คลินิกหู คอ จมูก ส่วนใหญ่มักตรวจพบว่าอาการไซนัสอักเสบนั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด ยิ่งในเด็กยิ่งพบมาก เพราะมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่

นอกจากนี้ อาการไซนัสอักเสบที่พบในผู้ป่วยยังพบว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคจมูกอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ , โรคเยื่อจมูกอักเสบ (Purulent rhinitis), ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum), รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น อีกทั้งผู้ป่วยอาจจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว อาทิ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ , โรคหืด , โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) 

โดยทั่วไปกว่า 0.5% ของผู้ป่วยที่เป็นหวัดจะมีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบตามมา ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ก็จะมีอาการไซนัสอักเสบร่วมด้วยประมาณ 40 - 50%

สาเหตุของการเกิดไซนัสอักเสบ

  • ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) สาเหตุนี้มักจะเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนและโรคจมูกอักเสบที่เกิดจากการการภูมิแพ้  ซึ่งเชื้อที่ทำให้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัส อาทิ ไวรัสโรคหวัด , เชื้อแบคทีเรีย , และฮีโมฟีลัส อินฟลูเอ็นซาอี นอกจากนั้นส่วนน้อยก็ยังอาจเกิดจากเชื้อรา อาทิ แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ที่หากพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่เชื้อเอดส์มักทำให้การที่มีอยู่แล้วเกิดอันตรายร้านแรง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

    • โรคหวัดเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน ทำให้เกิดการอักเสบของไซนัสได้

    • โรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีอาการคันในจมูก , คัดจมูก , น้ำมูกไหล ทำให้ต้องคอยขยี้จมูกและสั่งน้ำมูกอยู่บ่อยๆ ส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน เสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น

    • การติดเชื้อของฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟันกรามน้อยและฟันกรามด้านบน ซึ่งทั่วไปแล้วพบว่าประมาณ 10% ของการอักเสบของไซนัสที่โหนกแก้มจะมีสาเหตุมาจากฟันผุ เพราะผนังด้านล่างของไซนัสบริเวณนี้จะอยู่ติดกับรากฟัน ในบางรายอาจแสดงอาการชัดเจนภายหลังที่ถอนฟันมาแล้วเกิดรูทะลุระหว่างไซนัสโหนกแก้มและเหงือกขึ้น

    • โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ , โรคไอกรน , โรคหัด

    • เป็นผู้ที่ชอบใช้ยาพ่นจมูกโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะว่ายาพ่นจมูกบางตัวจะทำให้เกิดภาวะติดยาและเยื่อบุจมูกบวมเรื้อรังได้ อีกทั้งยังทำให้ความรู้สึกในการรับกลิ่นลดลงอีกด้วย

    • มีความผิดปกติของโพรงหลังจมูก เช่น เป็นริดสีดวง , เนื้องอกในจมูก , ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าในจมูก

    • การสูบบุหรี่จัด หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อาทิ การอยู่ในชุมชนแออัด อาศัยอยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ หากได้รับสาร หรือกลิ่นเหล่านี้เข้าไปในจำนวนมากๆ เป็นประจำ จะมีผลทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น

    • การว่ายน้ำบ่อยๆ หรือการดำน้ำลึกๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสำลักน้ำเข้าไปในจมูกและไซนัสได้ อีกทั้งยังอาจมีเชื้อราเข้าไปสะสมจนเป็นเหตุให้เกิดการอักเสบได้ นอกจากนี้ สารคลอรีน (Chlorine) ที่ถูกใช้ในสระว่ายน้ำก็ยังเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุไซนัสได้ด้วยเช่นกัน

    • การถูกกระทบกระแทกที่บริเวณใบหน้าอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจทำให้โพรงไซนัสโพรงใดโพรงหนึ่งแตกหัก ช้ำบวม หรือมีเลือดออกภายในโพรง เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาภายหลัง

    • การเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศที่เกิดขึ้นรอบตัวแบบทันที อย่างในกรณีของการที่เครื่องบินขึ้น หรือลงจอดแบบทันที หรือจากการดำน้ำลึก หากว่ารูเปิดของไซนัสในขณะนั้นบวมอยู่ในขณะเป็นหวัด หรือโพรงจมูกในช่วงที่กำลังอักเสบจากอาการภูมิแพ้กำเริบ ก็จะส่งผลให้เยื่อบุบวมมากขึ้นได้ อีกทั้งอาจมีการหลั่งสารคัดหลั่ง หรือมีเลือดออก ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบ พบได้โดยมากที่ไซนัสหน้าผาก

  • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน (Anaerobic bacteria) , สแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) , ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) , เคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae) , กลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ (Gram-negative bacteria) ในบางครั้งก็อาจมีการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน นอกจากนั้นส่วนน้อยก็อาจเกิดจากเชื้อรา อาทิ แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ที่มักทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง อันเป็นเหตุมาจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อรา (Allergic fungal sinusitis) พบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นปกติ โดยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนี้มักพบว่าเป็นภาวะแทรกซ้อมจากไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้ถูกรักษาอย่างถูกต้อง รวมถึงยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก ได้แก่
    • การไม่รับการรักษาที่ถูกต้องเพียงพอในขณะที่ป่วยเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเองที่ขาดการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง

    • การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนซ้ำซาก

    • การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด , การอยู่ในย่านโรงงาน , การได้รับมลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่จัด

    • การมีโรค หรือภาวะที่ทำให้มีการอุดตันของรูเปิดของไซนัส

    • การมีโรค หรือภาวะที่ทำให้ขนอ่อน (Cilia) ที่คอยโบกพัดเพื่อระบายสิ่งคัดหลั่งออกข้างนอกเสียไป ทำให้เกิดการสะสมของสิ่งคัดหลั่งในไซนัส ก่อนให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ อย่างในกรณีที่เป็นภาวะหลังเป็นโรคหวัด

    • เกิดโรคกรดไหลย้อนขึ้นที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux – LPR)

    • เป็นโรคทางทันตกรรมเรื้อรัง

    • มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือลดลง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ , เบาหวาน , ปลูกถ่ายอวัยวะ , ผู้มีภาวะโลหิตจาง , ขาดสารอาหาร , มีอารมณ์แปรปรวน , มีความเครียดสูง

    • มีปัจจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ที่ส่งผลให้เกิดการบวมของเยื่อบุจมูก เยื่อบุไซนัส และรูเปิดไซนัสบวม ทำให้มีสิ่งคัดหลั่งสะสมอยู่ในไซนัส ก่อให้เกิดการติดเชื้อ

ใครบ้างที่โอกาสเสี่ยงป่วยเป็นไซนัสอักเสบได้

ในความเป็นจริงแล้วใครๆ ก็สามารถที่จะเป็น ‘ไซนัสอักเสบ’ ได้ แม้แต่เด็กแรกเกิดที่มีโพรงอากาศ หรือไซนัสขนาดเล็กก็ตาม แต่ก็มีคนอยู่หลายกลุ่มที่เสี่ยงเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วๆ ไปอยู่ ดังนี้ …

  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก : เมื่อเกิดอาการแพ้ก็จะมีลักษณะอาการคล้ายกับคนเป็นหวัด เยื่อบุจมูกจะมีอาการบวม รูเปิดไซนัสจะตีบตัน ทำให้เกิดการอักเสบภายในไซนัสได้

  • ผู้ที่มีความผิดปกติของช่องจมูก : ยกตัวอย่าง ผู้ที่มีผนังกั้นระหว่างช่องจมูกคด ทำให้ช่องจมูกนั้นมีความกว้างเล็กกว่าปกติจนทำให้เกิดอาการแน่นและคัดจมูก อีกทั้งยังเป็นการขัดขวางการไหลเวียนของน้ำมูกตามปกติที่จะไหลไปทางด้านหลัง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

  • ผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่อยู่ในเขตที่มีมลภาวะเป็นพิษ : การทำพฤติกรรมดังกล่าว หรือการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลงได้ จึงทำให้มีโอกาสที่จะเป็นไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น

สระว่ายน้ำที่มีการใส่สารคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค : การว่ายน้ำในสระน้ำที่มีคลอรีน หรือถูกทำการฆ่าเชื้อด้วยโอโซนก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นไซนัสอักเสบขึ้นได้ เพราะเราอยู่ในสภาวะเช่นนั้นเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุได้

ลักษณะอาการเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ 

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 

ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดที่บริเวณใบหน้าเมื่อเกิดการอักเสบ เช่น ปวดที่บริเวณหัวตา , หน้าผาก โหนกแก้ม , รอบๆ กระบอกตา , หลังกระบอกตา ในบางรายอาจรู้สึกคล้ายกับปวดฟันตรงซี่บน ซึ่งอาจปวดเพียงข้างเดียว หรือปวดทั้งสองข้าง โดยอาการปวดจะเป็นแบบตื้อๆ หรือหน่วงๆ ในบางครั้งจะมีอาการมึนศีรษะร่วมกับการปวด อีกทั้งอาการปวดมักจะเกิดขึ้นในตอนเช้า หรือบ่ายเวลาที่ก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า 

ผู้ป่วยที่มีเป็นไซนัสเฉียบพลันจะมีอาการคัดแน่นจมูกอยู่ตลอดเวลา พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลือง หรือเขียว หรืออาจมีเสมหะข้นเหลือง หรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ทำให้ต้องคอยสูด หรือขากออก ในบางรายอาจมีไข้สูงจนหนาวสั่น ซึ่งในขณะที่มีไข้นั้นก็จะมีอาการปวดศีรษะและปวดบริเวณใบหน้าร่วมด้วย รวมถึงยังมีอาการอ่อนเพลีย ไอเรื้อรังเป็นเวลานาน เจ็บคอ ระคายคอ เสียแหบ ปวดหู หูอื้อ หายใจมีกลิ่นเหม็น อีกทั้งความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น หรือลดชาติก็ลดลงไปด้วย

 

ผู้ป่วยไซนัสเรื้องรังที่เป็นเด็ก

ในป่วยเด็กที่มีอาการไซนัสเรื้อรังนั้นมักมีอาการที่ไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อเป็นหวัดก็มักมีระยะเวลานานกว่าปกติกว่าจะหาย ยกตัวอย่าง เมื่อเป็นหวัดทำให้มีน้ำมูก แต่น้ำนั้นอาจใส หรือข้นเป็นหนอง มีอาการไอติดต่อกันนานกว่า 10 วัน ซึ่งมักจะไอในช่วงกลางวันและกลางคืน รวมถึงมีไขต่ำและหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย ในเด็กบางราย อาจแสดงอาการเป็นหวัดที่รุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกข้นเป็นหนอง มีอาการปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนก็จะสังเกตเห็นได้ว่าจะมีอาการบวมรอบๆ ดวงตา นอกจากนี้ ในเด็กที่มีอาการของหูอักเสบเรื้อรังและหอบหืด ก็ควรนึกถึงว่าอาจมีความเสียงที่จะเป็นไซนัสอักเสบเผื่อไว้ด้วย อีกทั้งในเด็กบางรายที่ป่วยเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการกำเริบมากกว่าปีละ 6 ครั้ง แต่ละครั้งจะนานกว่า 10 วัน 

 

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง 

ผู้ป่วยที่มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ มักจะมีอาการคัดแน่นจมูก มีเสมหะข้นเหลือง หรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ เมื่อหายใจก็จะมีกลิ่นเหม็น มีความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น หรือรสชาติลดลง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้แบบที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 

ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังที่เป็นเด็กมักมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อหายใจจะมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน หรือหูชั้นกลางอักเสบซ้ำซาก

 

วิธีป้องกันไซนัสอักเสบ 

เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดอาการไซนัสอักเสบ หรือลดอาการรุนแรงที่เกิดขึ้น ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ 

    1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ขั้นแรกให้ออกกำลังกายเป็นประจำแบบไม่ต้องหักโหม เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค ต่อมาให้พักให้เพียงพอ อย่าอดนอน หรือนอนดึกบ่อยๆ เพราะหากร่างกายอ่อนแอก็จะมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย และสุดท้าย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทุกวัน โดยให้ลด หรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ด้วย

    2. ให้หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ อย่าง มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ และกลิ่นที่ผิดปกติ โดยแนะนำให้อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

    3. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ เมื่อมีอาการคล้ายกับหวัดกำเริบ

    4. หลีกเลี่ยงภาวะที่อุณหภูมิมีการแปรเปลี่ยนฉับพลัน อาทิ การเข้าๆ ออกๆ ห้องปรับอากาศ หรือการอยู่ในรถยนต์ที่ตากแดดร้อนๆ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น

    5. ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกโดยที่ไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์

    6. ควรเดินทางไปรับการตรวจโพรงจมูก จาก แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ปีละครั้ง

    7. พยายามดูแลตัวเองไม่ให้เป็นหวัด เพราะหากเราเป็นหวัดก็สามารถทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้

    8. การป้องกันไซนัสไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก สามารถทำได้โดยพยายามแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาซ้ำได้อีก เช่น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และหากมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเป็น โรคหวัด โรคคออักเสบ หรือฟันผุ จะต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว แต่ถ้าหากเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นช่องจมูกคด เหล่านี้ก็ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม
    9. สำหรับผู้ที่เป็นหวัด มีน้ำมูก หรือมีเสมหะในคอในลักษณะข้นเหลือง หรือเขียว เป็นหวัดต่อเนื่องติดต่อกันนานกว่าปกติ (นานเกิน 10 วัน) หรือเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แนะนำว่าควรจะไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเป็นผลที่เกิดจากไซนัสอักเสบ

 

ใครจะคิดว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ หรือใบหน้านั้นจะมีผลมาจากการที่เราไม่สบาย หรือเกิดความเครียดเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นอาการที่บอกถึงความไม่แข็งแรงและการมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่ำกว่าปกติ ฉะนั้น เราจึงควรหันมาเริ่มต้นออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงดูแลตัวเองให้ดีในทุกๆ ด้าน เราจะได้เอาเวลาที่มีอยู่ไปทำสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ หรือสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเข้าโรงพยาบาล หรือรักษาอาการไซนัสให้เปลืองเวลา เพราะชีวิตเรายังต้องอยู่เพื่อตัวเองและเพื่อคนอื่นๆ ไปอีกนาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook