โรคซึมเศร้า ภัยเงียบที่แสนอันตราย

โรคซึมเศร้า ภัยเงียบที่แสนอันตราย

โรคซึมเศร้า ภัยเงียบที่แสนอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ... ความรักก็เช่นกัน แม้ความรักสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ที่อาจมีทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่หากเป็นความรักที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน ก็คงไม่มีใครรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดเท่ากับคนสองคนอย่างแน่นอน

สาเหตุที่ต้องเกริ่นนำขึ้นต้นเรื่องราวของความรัก เพราะต้องการสะท้อนกับความเป็นจริงของชีวิต ที่เปรียบเป็นเหรียญที่มี 2 หน้า คล้ายความรัก เพราะอาจมีทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่หากพบความผิดหวัง จะต้องรับมือให้ได้ แม้จะใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม หากยังอยู่กับที่จมกับความทุกข์ ก็อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจให้กลายเป็นโรคซึมเศร้า ถือเป็นภัยเงียบที่ต้องเร่งดูแลโดยด่วน

"โรคซึมเศร้า" ถือเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แต่การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใด ๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดอาการก็คือ ความเครียด ที่มีความผิดปกติของระดับสารเคมีของเซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์ หรือสภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่ง ต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน  รวมถึง หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้เช่นกัน

ลักษณะของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ย้ำคิดย้ำทำ เชื่องช้า ซึม เก็บตัว ชอบพูดเปรยว่าถ้าไม่มีเขาอะไรคงจะดี และพูดสั่งเสียอยู่เรื่อยๆ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหนักประมาณ 2-3 เดือน ถือเป็นช่วงอันตรายที่สุด เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูงมาก หากมีเรื่องกระทบจิตใจเพียงนิดเดียว แต่ถ้าพ้นช่วงนี้ไปได้ก็จะกลับสู่ภาวะปกติซึ่งอาการของโรคจะกำเริบเมื่อไรไม่มีใครรู้ล่วงหน้าบางคน 1-2 ปี จึงจะออกอาการ บางคนเพียง 6 เดือนแต่ถ้ารู้ว่าตัวเองป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการเข้าพบจิตแพทย์และกินยาตามที่แพทย์สั่ง

สำหรับการป้องกันการเกิดโรคทางจิต หากพบว่ามีปัญหาเครียด ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ ไม่ควรเก็บปัญหาไว้คนเดียว  ควรระบายปัญหาออก เช่น ปรึกษาผู้ที่ไว้วางใจที่สุดเพื่อหาทางออก ช่วยกันดูแลสมาชิกในครอบครัวสอบถามทุกข์สุข ทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที จะสามารถคลี่คลายปัญหาสุขภาพจิตได้ดีมาก โดยร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ทำให้นอนหลับสนิททุกวัน และที่สำคัญไม่ควรใช้สารเสพติดหรือดื่มสุราดับทุกข์  เนื่องจากจะทำให้เกิดการเสพติด  และสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง

สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นบททดสอบของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสุข หรือความทุกข์ สมหวังหรือผิดหวัง แต่หากมีสติย้อนคิดและไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าก็จะลดน้อยลง ที่สำคัญ การสังเกตและกำลังใจจากคนรอบข้าง ก็จะช่วยให้โรคนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัวอย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook