ปวดหัว ปวดศีรษะ เรื่องเล็กๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายไปได้ใหญ่โต

ปวดหัว ปวดศีรษะ เรื่องเล็กๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายไปได้ใหญ่โต

ปวดหัว ปวดศีรษะ เรื่องเล็กๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายไปได้ใหญ่โต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าใครหลายๆ คนต่างต้องเคยมีอาการนี้ แค่นั่งอยู่เฉยๆ ก็รู้สึกปวดหัว แค่หัวเราะก็ชักจะปวดหัว ยิ่งงานหนักยิ่งทำให้ปวดหัว หรือในบางครั้งเมื่อต้องเจอกับสภาวะที่ถูกกดดันมากๆ ก็ยิ่งปวดหัว ปวดตึ้บๆ ปวดหน่วงๆ เดี๋ยวปวด เดี๋ยวหาย ไม่สม่ำเสมอ แต่อย่าเพิ่งวิตกกันไปว่าอาการปวดหัวดังกล่าวจะนำมาซึ่งโรคที่ทำให้เราไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ต้องรีบบึ่งไปโรงหมอให้คุณหมอทำการตรวจวินิจัยกันอย่างเร็วรี่ ถ้าคุณได้ลองอ่านคำอธิบายเหล่านี้ เชื่อสิ ว่าความกังวลกับอาการที่เกิดขึ้นจะหายไป 

ปวดหัว หรือปวดศีรษะ (Headache) นั้นเป็นอาการไม่ใช่โรค โดยเป็นอาการที่พบได้โดยมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งจาก 2 ใน 3 ของเด็กทั้งหมดและจาก 9 ใน 10 ของผู้ใหญ่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เคยมีอาการปวดศีรษะกันมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเพศใด เป็นชายหรือเป็นหญิงก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการนี้ได้อย่างเท่าๆ กัน ลองมาทำความเข้าใจข้อมูลที่ Sanook! Health นำมาฝากในตอนนี้กันดีกว่า

อาการปวดหัวเกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

อาการปวดหัว หรือปวดศีรษะ เกิดจากเส้นประสาทที่ได้รับความเจ็บปวดภายในบริเวณศีรษะและลำคอซึ่งถูกกระตุ้นจากสาเหตุต่างๆ จากนั้นจึงส่งความรู้สึกนั้นไปยังสมองส่วนกลาง ส่งผลให้สมองตอบสนองจนเกิดเป็นอาการปวดหัว หรือปวดศีรษะ 

ประสาทรับความเจ็บปวดภายในศีรษะและลำคออาจถูกกระตุ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ 

  • สาเหตุการปวดหัวที่เกิดขึ้นจากหลอดเลือดในส่วนศีรษะและลำคอถูกดึงรั้ง และ/หรือมีการขยายตัวของหลอดเลือด เช่น จากการเพิ่มของอุณหภูมิในร่างกายเมื่อมีไข้

  • สาเหตุการปวดหัวที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของประสาทส่วนที่รับความเจ็บปวดในส่วนศีรษะและลำคอถูกกด หรือถูกดึงรั้งจากการอักเสบ หรือการบวม

  • สาเหตุการปวดหัวที่เกิดขึ้นจากการอักเสบ การดึงรั้ง และ/หรือการหดเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนศีรษะและลำคอ เช่น ความเครียด หรืออุบัติเหตุ

  • สาเหตุการปวดหัวที่เกิดจากการอักเสบ และ/หรือการระคายเคืองต่อเยื่อหุ้มสมอง และ/หรือก้านสมอง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

แนวทางการรักษาอาการปวดหัว 

  • เมื่อมีอาการปวดหัวที่อยู่ในกลุ่มปฐมภูมิ คือ เป็นอาการปวดหัวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากโรค แนวทางการรักษา คือ การบรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetampl) และการรักษาเพื่อป้องกันอาการปวดที่จะเกิดขึ้น โดยมากมักมีวิธีการรักษาด้วยการรับประทานยา มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทั้งนี้ การพิจารณาว่าผู้ป่วยควรจะทานยาชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของอาการและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวที่เกิดโรคไมเกรน เป็นต้น

  • เมื่อมีอาการปวดหัวที่อยู่ในกลุ่มทุติยภูมิ คือ เป็นอาการปวดที่มีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ การรักษาก็สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะ , การรักษาโรคเนื้องอกสมองด้วยการผ่าตัด และ/หรือร่วมกับการทำรังสีรักษา , การรักษาอาการปวดหัวที่เกิดจากสายตาสั้น หรือสายตาเอียงด้วยการใส่แว่นตา รวมถึงการให้เลิกสุราเมื่อมีสาเหตุการปวดหัวมาจากการดื่มสุรา เป็นต้น

  • เมื่อมีอาการปวดหัวที่เกิดจากเส้นประสาทและอื่นๆ เช่น การผ่าตัดเมื่อมีหลอดเลือดกดเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 เป็นต้น

  • การรักษาอาการปวดหัวโดยประคับประคองไปตามอาการ คือ การให้ยาแก้ปวดขณะที่มีอาการปวดหัว ซึ่งจะมียาแก้ปวดอยู่หลายชนิด โดยยาที่ผู้ป่วยสามารถหาซื้อเพื่อรับประทานได้เองเป็นยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ส่วนยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เพื่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ยา

อาการปวดหัว รุนแรงหรือไม่ ?

สำหรับความรุนแรงของอาการปวดหัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิด เริ่มตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรงมาก สามารถหายได้เองด้วยการพักผ่อน อาทิ ปวดหัวจากการนอนไม่หลับ นอนไม่พอ หรือปวดหัวปานกลางจากการมีไข้สูง หรือปวดหัวไมเกรน ที่ใช้การรักษาด้วยการกินยา หรือปวดหัวรุนแรงจากโรคเนื้องอกในสมอง ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และอาจทำร่วมกับการรังสีรักษา

เราจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหัวได้อย่างไร ? 

สำหรับการป้องกันอาการปวดศีรษะที่จะเกิดขึ้นขอให้เริ่มต้นจากการป้องกันที่สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น การป้องกันไข้หวัดที่เกิดจากการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน รวมถึงต้องรักษาสุขภาพจิต และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการปวดหัวจากความเครียด ที่สำคัญ อย่างลืมไปตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันโรคและรักษาอาการที่จะเกิดทางสายตาไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัวแบบเรื้องรัง อีกทั้งไม่ควรดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์

ปวดหัวแบบไหน บอกอะไรได้บ้าง ?

ปวดหัวข้างเดียว

การปวดในลักษณะนี้จะเป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นเพียงด้านเดียวของศีรษะ ในบางครั้งก็อาจมีการย้ายข้างการปวดได้บ้าง แต่จะเป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่อาการปวดจะเกิดขึ้นที่บริเวณขมับ จะรู้สึกปวดตุบๆ ตามการเต้นของชีพจร ซึ่งเมื่อขยับร่างกายก็อาจปวดมากขึ้น และมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ บางกรณีก็อาจมีอาการปวดที่หลังดวงตาและศีรษะร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการไวต่อเสียงและแสง ไปจนถึงมีอาการอาเจียนร่วมด้วยเป็นบางครั้ง

อาการปวดในลักษณะเช่นนั้นก็เป็นเหตุมาจากโรคไมเกรน ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยทั่วโลกมานักต่อนักแล้ว โดยในเมืองไทยก็มีสถิติของผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 17 ที่ส่วนใหญ่เกิดได้ในผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง

หากถามว่าเมื่ออาการปวดเกิดขึ้นแล้วจะมีระยะเวลายาวนานเท่าไหร่ อาการปวดนั้นอาจสั้นยาวแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายอาจมีอาการปวดยาวนานถึง 72 ชั่วโมง การรับประทานยาแก้ปวดธรรมดาอย่าง พาราเซตามอลนั้นมักไม่ได้ผลกับโรคไมเกรน จะต้องใช้ยาเพื่อรักษาที่แรงขึ้น ฉะนั้น จึงควรไปปรึกษาแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

ปวดหัวตื้อๆ หนักๆ

การปวดในลักษณะที่มีอาการตื้อๆ หนักๆ อยู่ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ และบริเวรท้ายมอย โดยจะปวดเท่าๆ กันทั้งสองด้านของศีรษะ เริ่มต้นจากด้านหลัง คอ และปวดเรื่อยลงไปจนถึงไหล่ หรืออาจจะปวดแบบย้อนกลับขึ้นมาก็ได้ ซึ่งอาการปวดนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึงหลายวัน ผู้ป่วยบางรายก็อาจปวดต่อเนื่องกันทุกวันจนเป็นสัปดหา์ หรือเป็นเดือนแบบมาๆ หายๆ ได้  เมื่อปวดแล้วจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ไม่มีไข้ ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่จะปวดหลังจากที่ตื่นนอนในตอนเช้า หรือตอนบ่ายๆ เย็น หรือหลังจาการทำงานหนัก มีเรื่องให้ต้องวิตกกังวล

จริงๆ แล้วอาการปวดหัวในลักษณะนี้จะเกิดจากความเครียดเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุที่พบได้มากที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัว โดยเป็นคนในกลุ่มวัยทำงาน สาเหตุของการปวดเกิดจากการเกร็งตัวกล้ามเนื้อที่บริเวณศีรษะ ลำคอ และใบหน้า ซึ่งอาจถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าหลายอย่าง รวมไปถึงการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อช่วยไหล่ คอ จากการนั่ง หรือจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ

เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวตื้อๆ หนักๆ อาจทำได้โดยการรับประทานยาแก้ปวดแบบธรรมดา แต่หากอาการปวดหัวเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานก็ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

ปวดหน่วงๆ ที่หน้าผากและกระบอกตา

การปวดในลักษณะที่มีความรู้สึกตื้อๆ หน่วงๆ ที่บริเวณหน้าผาก รู้สึกร้อนผ่าวๆ ที่กระบอกตา ไปจนถึงการปวดที่บริเวณโหนกแก้มคล้าบกับอาการปวดฟันซี่บน ซึ่งอาการปวดที่เกิดขึ้นจะเป็นข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยในบางครั้งก็จะมีอาการมึนศีรษะร่วมกับการปวด มักเกิดขึ้นในตอนเช้า บ่าย แม้แต่เวลาที่ก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า แต่หากมีอาการอื่นเกิดร่วมด้วย อาทิ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลต่อเนื่อง มีอาการไอติดต่อกัน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น นั่นก็แสดงว่าเราอาจไม่ได้ปวดหัวแบบธรรมดา แต่กำลังจะต้องเจอกับอาการ ไซนัสอักเสบ เข้าซะแล้ว ซึ่งไซนัสอักเสบบางชนิดนั้นสามารถรักษาให้หายได้ บางชนิดก็รักษาหายแต่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นใหม่ เพราะอย่างนั้น ผู้ป่วยจึงควรต้องไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ อาการจะได้ไม่ลุกลามบานปลาย

หนทางในการรักษาอาการปวดหัวแบบหน่วงๆ ที่หน้าผากและกระบอกตานี้ คือ ให้เดินทางไปขอรับคำปรึกษาจากแพทย์จะดีที่สุด ไม่ควรที่จะหายาแก้ปวดมารับประทานเอง เพราะเป็นการประทังความปวดไปวันๆ ซึ่งถ้าหากยากไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการปวดที่เกิดขึ้น การไปปรึกษาแพทย์จะช่วยให้รับคำแนะนำในการรักษาและข้อปฏิบัติอย่างถูกต้อง ตรงจุดมากกว่า โอกาสที่จะหายก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

ปวดหัว หรือปวดฟัน

การปวดในลักษณะนี้บ้างก็ปวดที่แนวกราม บ้างก็ปวดที่ขากรรไกร จากนั้นอาการปวดก็จะลามไปที่ศีรษะทั้งสองข้าง เป็นอาการที่คล้ายกับมีอะไรมารัดอยู่ที่ศีรษะ ทำให้ปวดตื้อๆ หรืออาจปวดรอบๆ ลูกตาด้วย ซึ่งอาการปวดเช่นนี้ในความเป็นจริงไม่ได้เกิดจากศีรษะ แต่เกิดมาจากปัญหาสุขภาพฟันต่างหาก เพราะฟัน ข้อต่อกรรไกร กล้ามเนื้อสำหรับบดเคี้ยว กล้ามเนื้อคอ และกล้ามเนื้อบริเวณไหล่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จึงมีส่วนทำให้เกิดอาการปวดหัวขึ้นได้

สุขภาพของฟันที่ย่ำแย่เกิดมาจากการสบฟันที่ผิดปกติ อาทิ ฟันเก ฟันล้ม ฟันถูกถอนออกไปทำให้เคี้ยวอาการได้ข้างเดียว ไม่สมดุล การทำงานของกล้ามเนื้อก็ไม่สมดุลไปด้วย เนื่องจากต้องทำงานหนักข้างใดข้างหนึ่งแบบไม่มีหยุดพัก ทำให้เกิดการสะสมการดึงรั้งเอาไว้จนเกิดเป็นอาการปวดหัวขึ้นแทน

อาการปวดหัวในลักษณะนี้เรียกว่าเป็น ‘อาการปวดแบบส่งต่อ’ หรือ ‘referred pain’ ซึ่งมีต้นตอการปวดมาจากที่ใดที่หนึ่ง แต่จะส่งไปรู้สึกปวดในอีกที่หนึ่ง การกินยาแก้ปวดแบบธรรมดาจึงไม่ใช่ทางออกอีกเช่นกัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะหากอาการปวดเกิดขึ้นมาจากฟัน ก็จะได้ส่งต่อไปยังทันตแพทย์เพื่อตรวจภายในช่องปากและทำการรักษาต่อไป

9 อาการปวดหัวอันตรายที่ต้องรีบไปพบแพทย์ !

1. ปวดหัวในแบบที่เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาท

อาการปวดในแบบนี้จะมีอาการที่ทำให้เห็นได้ชัด อาทิ พฤติกรรม หรือบุคลิกภาพภายนอกเปลียนแปลงไปจากเดิม , แขน ขา หรือการรับรู้มีความผิดปกติ , การได้ยิน การมองเห็นผิดปกติ

2. ปวดหัวอย่างเฉียบพลันและรุนแรง

โดยปกติการปวดหัวในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสัญญาบอกถึงภาวะของหลอดเลือดที่ตีบและอาจแตกได้ในที่สุด เสี่ยงต่อชีวิต

3. ปวดหัวในแบบที่ต่างจากการปวดที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

ถึงแม้จะมีอาการปวดหัวมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อการปวดนั้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่มีช่วงเวลาหาย แต่จะถี่และแรงขึ้นจนแทบทนไม่ไหว

4. ปวดหัวในแบบที่เปลี่ยนทางแล้วทำให้ปวดมากขึ้น

อาการปวดหัวในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนแปลงท่าทางของร่างกาย อาทิ เมื่อนอน เมื่อยืน หรือเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะและคอ เป็นไปได้ว่าจะเกิดความผิดปกติของระบบน้ำในโพรงสมอง ไขสันหลัง หรือบริเวณกระดูกต้นคอ

5. ปวดหัวข้างเดียวอยู่ตลอดเวลา

ไม่ใช่แค่เรื่องของการปวดหัวข้างเดียวเท่านั้น แต่ยังมักมีอาการปวดที่บริเวณด้านหลังของศีรษะด้วย นี่ไม่ใช่อาการปวดที่เป็นปกติ เพราะโดยทั่วไป อาการปวดหัวมักมีการสลับข้างซ้ายขวาเท่าๆ กัน

6. ปวดหัวจนทุกอย่างเริ่มแย่ลงเมื่อจาม ไอ หรือเบ่ง

การปวดในลักษณะนี้มักจะมีความสัมพันธ์กับความดันที่อยู่ภายในกะโหลกศรีษะ ความดันนั้นอาจสูงขึ้นจนทำให้เกิดความผิดปกติ

7. ปวดหัวทุกครั้งหลังจากตื่นนอน

การปวดในลักษณะนี้ก็จะบ่งบอกถึงสภาพความดันภายในกะโหลกศีรษะที่สูงขึ้นเช่นกัน

8. ปวดหัวครั้งแรกหลังมีอายุได้ 50 ปี

โดยปกติแล้ว อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิจะเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากที่มีอายุได้ 40 - 50 ปี ซึ่งเป็นอาการปวดที่ไม่ได้มีผลมาจากการรับยา แต่เป็นอาการปวดที่เกิดจากความเครียด ไมเกรน แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น อาการปวดหัวก็มักจะไปสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ ด้วย สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง ก้อนเนื้องอก การอักเสบของหลอดเลือด ฉะนั้น ผู้ที่เริ่มมีอาการปวดหัวเมื่อตอนอายุได้ 50 ปี จะต้องเข้ารับการเอกซเรย์สมองทุกราย ถึงแม้จะตรวจร่างกายและระบบประสาทจะไม่มีความผิดปกติก็ตาม

9. ปวดหัวที่มีสาเหตุมาจากโรคและความเจ็บป่วยทางการอื่นๆ

อาการที่เกิดร่วมกับการปวดหัวนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ อาทิ มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด เหงื่อมักออกช่วงกลางคืน มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง มีการติดเชื้อ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ เอชไอวี ไปจนถึงผู้ที่รับประทานยาบางประเภท อาทิ ยาละลายลิ่มเลือด , ยาสเตอรอยด์ , ยากดภูมิคุ้มกัน โดยประวัติของอาการป่วยเหล่านี้จะบ่งบอกถึงการอักเสบ การติดเชื้อ และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลที่ Sanook! Health นำมาฝาก เห็นรึเปล่าว่าแค่อาการปวดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นก็สามารถบอกได้ว่าร่างกายของเรากำลังไม่สมบูรณ์ หรือกำลังจะเกิดโรคภัยโรคใดโรคหนึ่งอยู่ ทางที่ดีควรเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย หรือเรื่องของสุขภาพจิตใจล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ รับประทานอาการที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้ตัวเองดูสดชื่นและมีความสุขอยู่เสมอ จะช่วยให้ห่างไกลกับอาการปวดหัวที่พูดถึงไปเมื่อตอนต้นได้อย่างไร้กังกล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook