“ไข้เลือดออก” ไม่มีสายพันธุ์ใหม่ แต่ทำไมรุนแรงถึงชีวิต

“ไข้เลือดออก” ไม่มีสายพันธุ์ใหม่ แต่ทำไมรุนแรงถึงชีวิต

“ไข้เลือดออก” ไม่มีสายพันธุ์ใหม่ แต่ทำไมรุนแรงถึงชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทราบกันหรือไม่คะว่า ประเทศไทยสูญเงินรักษาโรคไข้เลือดออกมากถึง 290 ล้านบาทเป็นอันดับ 2 จากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาจากประเทศอินโดนิเซีย แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในไทยจะไม่ได้สูงมาก นั่นเป็นเพราะประเทศไทยมีมาตรการณ์รับมือกับโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามเรายังพบผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกราว 40,000-50,000 คนแต่ในความเป็นจริงพบว่าการติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่บางรายไม่มีอาการ ดังนั้นในปีหนึ่งๆอาจมีคนติดเชื้อราว 200,000 คน และในช่วงปีที่มีการระบาด พบว่ามีคนติดเชื้อนี้ใกล้หลัก 1,000,000 คน และเราลืมไปว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการก็ถือเป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่ต้น เพื่อลดปัญหาจากต้นเหตุ

 

ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่?

รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ จากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความรุนแรงของไข้เลือดออกนั้นไม่ได้เกิดจากการที่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด จากการศึกษาพบว่า  ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมีร่างกายที่แข็งแรงมาก่อน บางครั้งมีแนวโน้มที่ร่างกายหรือภูมิต้านทานของร่างกายจะตอบโต้หรือมีปฏิกิริยาต่อเชื้อที่บุกรุกรุนแรงเท่านั้นเพื่อทำลายเชื้อไวรัส จนในบางครั้งการตอบสนองรุนแรงจนทำให้มีอาการและแสดงอาการที่รุนแรงได้

 

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคเฉียบพลัน ยังไม่มียารักษา

รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี กล่าวว่า อัตราการตายจากโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยถือว่าต่ำที่สุดในย่านอาเซียนจากการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังคงเป็นโรคที่น่ากังวลและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากไข้เลือดออกเป็นโรคที่เฉียบพลัน ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกอาจรุนแรงกระทั่งเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน บางรายมีแต่อาการไข้ เพลียในสองวันแรก วันที่ 3-4 อาการเริ่มทรุดหนัก วันที่ 5-6 อาจจะรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้

ปัจจุบันแม้จะมีโครงการวิจัยยาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในด้านยารักษาจำเพาะ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในวันนี้คือการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหรือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ได้รับการจดทะเบียนใน 16 ประเทศแล้วรวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยมีประสิทธิภาพป้องกันกว่าร้อยละ 65.6 ซึ่งหมายความว่า ในจำนวนคน 100 คนจะช่วยป้องกันโรคได้ 65 คน ส่วนที่อีก 35 คนยังอาจมีการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลงได้กว่าร้อยละ 90

 

5 มาตรการป้องกันไข้เลือดออก

  1. ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการของตัวเอง แล้วรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคให้เร็ว และทำการรักษาให้เร็วที่สุด

  2. จัดการระบบการเฝ้าระวังไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งมีแค่ 4 สายพันธุ์

  3. ทุกหน่วยงานต้องทำการควบคุมยุง ที่บ้านและชุมชนของตนเอง

  4. ถ้ามีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติ โดยเฉพาะในประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกระบาดมาก ควรนำมาใช้ป้องกันโรค

  5. ต้องมีการเก็บข้อมูลและทำวิจัยต่อไปอีก เพื่อให้ทุกอย่างมีการพัฒนาต่อไป

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับประชาชนทั่วไป จำไว้ง่ายๆ แค่ 3 ข้อ คือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ระวังไม่ให้ตัวเองโดนยุงกัด และพบแพทย์ทันทีเมื่อมีไข้ขึ้นสูงมากกว่า 2-3 วัน เท่านี้ก็จะช่วยลดอัตราการป่วย และเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้ง่ายๆ แล้วค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook