หูดหงอนไก่ ไม่ถึงตาย แต่ (อาจ) ทำลายชีวิตคู่

หูดหงอนไก่ ไม่ถึงตาย แต่ (อาจ) ทำลายชีวิตคู่

หูดหงอนไก่ ไม่ถึงตาย แต่ (อาจ) ทำลายชีวิตคู่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผศ.พญ.เจนจิต  ฉายะจินดา
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก เชื้อไวรัสต้นเหตุที่เรียกว่า ฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (HPV) ที่ถ่ายทอดถึงกันได้ง่าย โดยผู้ที่ให้เชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย และผู้รับเชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย กว่าจะเกิดอาการนานเป็นปี  ปัจจุบันพบว่า หญิงชายวัยเจริญพันธุ์ ร้อยละ 1 มีหูดหงอนไก่ โดยจะพบรอยโรคในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หูดหงอนไก่ไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิต แต่ทำลายความมั่นใจในชีวิตอย่างมาก รวมทั้งต้องเสียเงินและเวลาในการรักษามากมาย และยังพบเกิดซ้ำร้อยละ 30-70 หลังจากหยุดการรักษาไป 6 เดือน

ร้อยละ 90 ของหูดหงอนไก่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิดความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เชื้อ HPV ชนิด 6, 11 ซึ่งไม่ทำให้เกิดมะเร็ง

สำหรับ HPV ความเสี่ยงสูง ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง และมะเร็งองคชาติ มะเร็งทวารหนักในผู้ชาย ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18 เป็นหลัก

อาการของโรคหูดหงอนไก่เป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ไปจนถึงมีก้อนโตมากจนอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนักหรือท่อปัสสาวะ บางรายมีเลือดออกจากก้อนคันถึงคันมาก ตกขาวผิดปกติหรือแม้แต่แสบร้อนที่อวัยวะเพศ

การรักษา รักษาด้วยยาโดยแพทย์จะนัดทายาทุก 1 สัปดาห์ โดยก่อนทายาทุกครั้งผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ เพราะหลังจากทายาแล้วไม่ควรให้รอยทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง

ยามีหลายชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่ โพโดฟีโลทอกซิน ยานี้อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และปวด หากเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เส้นประสาทอักเสบชาตามตัว เม็ดเลือดขาวต่ำและเกล็ดเลือดต่ำ สารละลายกรดเข้มข้น (80-90% Trichloroacetic acid) ออกฤทธิ์โดยทำให้โปรตีนในเชลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย หูดที่มีก้านมักหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน ทำให้เกิดผิวหนังระคายเคืองเป็นแผลเลือดออกได้

 bad-sex-2iStock

นอกจากนี้ยังมียาที่แพทย์ให้ผู้ป่วยทาเอง ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ อิมิควิโมด (5%Imiquimod/Aldara) ทา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ไม่เกิน 16 สัปดาห์ ยานี้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ให้ร่างกายกำจัดไวรัสเอชพีวีด้วยตัวเอง ข้อเสียคืออาจทำให้เกิดผื่นแดง โพโดฟิลอก (Podofilox 0.5%) เป็นยาที่ยับยั้งการแบ่งเซลล์ วิธีการใช้คือทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ อาจทำให้เกิดระคายเคืองเล็กน้อย ก่อนทายาเองทุกครั้งผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ เพราะหลังจากทายาแล้วไม่ควรโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการจี้ไฟฟ้า จี้เย็น และการตัดด้วยใบมีด

หูดหงอนไก่ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่ธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี อาจติดเชื้อได้หลายสายพันธุ์พร้อมกัน หากติดสายพันธุ์ชนิดความเสี่ยงสูงร่วมด้วยก็มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งขึ้น หูดหงอนไก่ที่ขนาดใหญ่ในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจขัดขวางการคลอดจนต้องผ่าตัดคลอดได้ หูดหงอนไก่ยังสามารถเกิดที่คอหอย หลอดลม หรือเส้นเสียงของทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคนี้ได้ ทำให้มีผลต่อการหายใจของทารกจนอาจเสียชีวิตได้ การรักษามักต้องผ่าตัดออก และต้องทำหลายครั้งซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานมาก

หูดหงอนไก่ เกิดซ้ำได้บ่อยถึงร้อยละ 30-70 ที่ระยะเวลา 6 เดือนหลังสิ้นสุดการรักษา สาเหตุเป็นได้ตั้งแต่ยาไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อซ้ำจากคนข้างกาย หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตนเองที่เพิ่งก่อให้เกิดรอยโรค

จะเห็นได้ว่าไม่มีการรักษาวิธีใดดีที่สุด หรือสามารถรับประกันได้ว่าโรคนี้จะหายขาดได้ รวมถึงคู่ชีวิตของผู้ป่วยก็มักจะติดเชื้อเอชพีวีไปเรียบร้อยแล้ว

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่มีเพศสัมพันธ์กับใครเลยตลอดชีวิต แม้กระนั้นก็ตาม การสัมผัสอย่างรุนแรงที่อวัยวะเพศภายนอกด้วยวัตถุ หรืออวัยวะที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้ก ยังคงสามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้ ถุงยางอนามัยไม่สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อ ไวรัส เอชพีวีได้ดี เพราะเชื้อนี้สามารถกระจายอยู่ได้ทั่วไป ตั้งแต่รอบทวารหนัก ฝีเย็บ หัวเหน่า เป็นต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่ถุงยางอนามัยไม่ครอบคลุมถึง

ปัจจุบันมีการคิดค้นวัคซีนที่สามารถป้องกันเกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ ซึ่งร้อยละ 90 ของหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิด 6, 11 โดยวัคซีนที่ป้องกันหูดหงอนไก่ได้อยู่ในรูปวัคซีนเอชพีวีชนิดที่มี 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18) ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก อีกด้วย

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook