ทำอย่างไร ไม่ให้ “ไหลตาย”?

ทำอย่างไร ไม่ให้ “ไหลตาย”?

ทำอย่างไร ไม่ให้ “ไหลตาย”?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกครั้งที่อ่านข่าวเจอ หรือแม้กระทั่งพบว่าคนที่รู้จักต้องเสียชีวิตด้วยการ “ไหลตาย” เป็นเรื่องที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเสียชีวิตฉับพลัน หรืออย่างที่ทุกคนทราบดีว่ามันคือ การนอนหลับแล้วก็เสียชีวิตไปเสียเฉยๆ ดูเหมือนจะเป็นการเสียชีวิตที่สบาย ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงต่างก็เศร้าเสียใจมากกว่าเดิม เพราะเป็นการจากไปอย่างกะทันหันเกินกว่าจะได้มีการสั่งเสียร่ำลากัน

ดูๆ ไปแล้ว อาการไหลตาย จู่ๆ ก็เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวแบบนี้ จะมีวิธีป้องกันหรือไม่ มาดูกันค่ะ

 

ไหลตาย คืออะไร?

อาการไหลตาย หรือที่ใครหลายคนเข้าใจว่ามันคือโรค จริงๆ แล้วมันคืออาการของโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ซึ่งไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในบางรายอาจมีสุขภาพปกติ แข็งแรง แต่อยู่ๆ ก็กลับมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก  รู้สึกอึดอัด เหนื่อยง่าย

อ่านต่อ >> 6 สัญญาณอันตราย ก่อน “ไหลตาย”

 

วิธีป้องกันภาวะไหลตาย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดในหัวใจมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เราสามารถป้องกันภาวะไหลตายได้ง่ายๆ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงทีละข้อ

1. ลดความเครียด

หลายครั้งที่ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้าจากการใช้งานร่างกาย และสมองหนักจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนัก อ่านหนังหนังสือหนัก จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอสะสม อาจรวมถึงสารเคมีที่หลั่งออกมาจากอาการเครียด ที่เป็นสาเหตุทำให้หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรแบ่งเวลาให้ชัดเจน และอย่าลืมว่าไม่ว่าจะทำอะไร ร่างกายต้องแข็งแรงอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรมเป็นอันขาด

 

2. ลดการทานอาหารเค็มจัด อาหารหมักดอง แอลกอฮอล์

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด รวมถึงอาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง น้ำปลา หรือเหล้า เบียร์ ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือไหลตายได้เช่นกัน เพราะอาหารหมักดองมีสารไทรามีน ไปยับยั้งสารนอร์อะเปนเน็บฟิน หรือ อะเปนเน็บฟิน ซึ่งกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ไปอุดกั้น ทำให้สารเคมีที่จะไปกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานหยุดชั่วขณะหนึ่ง ทำให้หัวใจล้มเหลวได้ทันที

 

3. ดื่มน้ำก่อนนอน

ใครที่มีโรคประจำตัวอย่าง ไขมันอุดตันเส้นเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ ควรดื่มน้ำก่อนนอนเพื่อไม่ให้เลือดข้นหนืดจนเกินไป จนทำให้ลิ่มเลือดเข้าไปอุดกั้นการทำงานของหัวใจในการสูบฉีดของโลหิตได้

 

4. ตรวจการเต้นของหัวใจ

ใครที่มีประวัติครอบครัวเคยเสียชีวิตจากการไหลตาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ควรเข้ารับการตรวจการเต้นของหัวใจทุกปี หรือเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็วและแรงอย่างไม่มีสาเหตุ วูบ หรือหน้ามืดบ่อย อาจจะมาจากการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ หากตรวจพบตั้งแต่แรกๆ อาจได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

5. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ

กฎพื้นฐานของการป้องกันทุกโรค คือ การทำให้ร่างกายของตัวเองแข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยกฎ 3 ข้อ คือ ทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ สารอาหารครบครัน หรือจะเน้นอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจอย่าง ผลไม้ต่างๆ มะเขือเทศ ผักกวางตุ้ง ผักชี หัวใจหมู ข้าวโพด รากบัว กระชาย โหระพา โสม ลดอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลสูง รวมถึงออกกำลังกายอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และนอนหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เท่านี้ก็ช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะไหลตายได้แล้วล่ะค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook