5 อันดับโรคมะเร็งที่คนวัยทำงานไม่ควรมองข้าม

5 อันดับโรคมะเร็งที่คนวัยทำงานไม่ควรมองข้าม

5 อันดับโรคมะเร็งที่คนวัยทำงานไม่ควรมองข้าม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย จึงทำให้คนส่วนใหญ่กลัวโรคนี้เอามากๆ ทั้งความเจ็บปวดทรมานที่เกิดจากโรค ทั้งความทรมานกับขั้นตอนการรักษาอีก ในชีวิตประจำวันของเราเองก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเพิ่มขึ้นทุกวัน ในเมื่อหมดหนทางหลบหนี เราก็ควรหาทางหลีกเลี่ยงและป้องกันเอาไว้ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานทั้งหลายอย่าชะล่าใจเป็นอันขาด โยนทิ้งความเชื่อที่ว่ามะเร็งเป็นเฉพาะคนวัยชราลงไปซะ จะอายุเท่าไหร่ เพศไหน ทำงานอะไรก็มีโอกาสเสี่ยงพอกันทั้งนั้น

3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

1. กรรมพันธุ์
จากการถ่ายทอดผ่านทางยีนส์และเซลล์ต่างๆ ในร่างกายจากรู่นปู่รุ่นย่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้เพียง 5-10% เท่านั้นเอง

2. พฤติกรรมการใช้ชีวิตและข้อจำกัดของเวลา เช่น เลือกทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สูบบุหรี่จัด ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และพักผ่อนน้อย

3. สภาพแวดล้อม
เช่น แสงแดดจัดๆ มลภาวะทางน้ำ และอากาศ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เราหลีกเลี่ยงและแก้ไขอะไรมันไม่ได้เลย


    ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (www.nci.go.th) บอกว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเฉลี่ยอยู่ที่ 130,000 รายต่อปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ในอนาคตมีแนวโน้มการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตสูงพอๆ กัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น โอ๊ย ฟังดูน่ากลัวจริงๆ นี่คงถึงเวลาที่วัยรุ่นวัยทำงานต้องหันมารักษาสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตกันบ้างแล้ว
วันนี้เราจะมาจัดอันดับโรคมะเร็งที่พบในวัยทำงานมากที่สุด 5 อันดับ พร้อมสาเหตุ อาการแรกเริ่ม และวิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงต่างๆ นี่ไม่ได้จะเอามาขู่ให้เพื่อนๆ กลัวนะ แค่อยากเตือนให้ตื่นตัวกันเท่านั้นเองจ้า



1. มะเร็งตับ หรือ Liver Cancer

โรคมะเร็งตับ มีสาเหตุเบื้องต้นจากการเป็นตับอักเสบ หรือ Hepatitis เป็นภาวะที่เซลล์ตับถูกทำลายจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อแบคทีเรีย และจากการ ดื่มสุรา หรือ ยา บางชนิดมากจนเกินไป ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง กลายเป็นตับแข็ง และสุดท้ายก็ลุกลามจนเป็นมะเร็งตับ ซึ่งที่น่าตกใจคือผู้ชายวัยทำงานมีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูงที่สุด เพราะไม่ได้สนใจดูแลสุขภาพมากนัก บวกกับโรคนี้ไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็น กว่าจะตรวจพบก็เป็นระยะสุดท้าย



อาการของโรคมะเร็งตับ


ระยะแรกจะไม่แสดงอาการอะไรให้เห็น จนเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ตัวเหลือง ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือมีอาการปวดบริเวณชายโครงขวา ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกถึงอาการเหล่านี้อยู่เป็นเดือนๆ ถ้าก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น ก็จะมีอาการเบื่ออาหารสุดๆ อ่อนเพลีย ตาเหลือง และรู้สึกอึดอัดที่บริเวณลิ้นปี่ตลอดทั้งวัน ส่วนผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจะไม่มีอาการใดๆแสดงออกมาเลย กว่าแพทย์จะตรวจพบก็เป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย แล้วมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน

การดูแลตัวเอง
-ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี
-ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัดจนเกินไป ถ้าไม่ดื่มเลยได้ก็ยิ่งดี ลดความเสี่ยงลงได้เยอะ
-ทานยาเท่าที่จำเป็น และไม่ควรทานต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทิ้งสารตกค้างสะสมในตับ
-รับประทานอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาน้ำจืด ความร้อนจะช่วยทำลายสารไนโตรซามีน และเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารได้
-ตรวจสุขภาพ และพบแพทย์ทันที่ที่มีอาการ อย่าชะล่าใจ เพราะมะเร็งตับเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวมาก



2. มะเร็งปอด หรือ Lung Cancer

โรคมะเร็งปอด คือ การที่เซลล์บางส่วนภายในปอดทำงานผิดปกติ หรือเนื้อเยื่อปอดถูกทำลาย ซึ่งก็มาจากสาเหตุหลักๆ คือ การสูบบุหรี่ หรือ การได้รับควันบุหรี่จากผู้ใกล้ชิด ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่าควันบุหรี่มือสอง (second hand smoker) ในบุหรี่แต่ละมวนมีสารก่อมะเร็งอยู่มากมายหลายชนิด ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำและต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 ปี มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า แต่สำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็อย่าปล่อยชิลไป เพราะสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและมลภาวะในอากาศ ก็สร้างสารก่อมะเร็งได้เหมือนกัน อาทิ ควันรถยนต์ ควันจากการเผาเคมีหรือพลาสติก และควันจากการปิ้งย่างอาหาร



อาการของโรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ คนวัยทำงานส่วนมากจะพบโดยบังเอิญเวลาไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากใครที่มีอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก มีเสมหะปนกับเลือด เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด และเบื่ออาหาร ก็ให้สงสัยว่าตัวเองมีอาการเบื้องต้นของโรคนี้ไว้ก่อน เชื้อมะเร็งปอดลุกลามได้ง่ายและรวดเร็ว หากไม่รีบตรวจหา เชื้อมะเร็งจากปอดจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น การลุกลามไปกระดูกสันหลัง ก็อาจมีอาการปวดหลัง หรือถ้าลุกลามไปที่ตับ ก็จะมีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน หากใครเคยเป็นวัณโรค หรือปอดบวมก็ต้องตรวจหาบ่อยๆ เพราะโอกาสที่จะเกิดเชื้อมะเร็งมีสูงกว่าคนทั่วๆ ไป

การดูแลตัวเอง

-สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ พยายามลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพิ่มการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
-สำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่อาจได้รับควันบุหรี่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และหาเวลาออกกำลังกายบ้าง
-หากต้องเผชิญกับมลพิษในอากาศ ให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง



3. มะเร็งเต้านม หรือ Breast Cancer

โรคมะเร็งเต้านม พบมากที่สุดในเพศหญิง โดยเฉพาะวัยทำงาน เกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง อาจจะเกิดกับท่อน้ำนม หรือต่อมน้ำนมก็ได้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ อันดับแรกคือความเปลี่ยนแปลงของอายุและฮอร์โมนร่างกาย จากวัยรุ่นสู่วัยทำงาน หรือการให้นมบุตร ถัดมาคือพฤติกรรมของตัวเราเอง เช่น ความอ้วน การทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง และสุดท้ายคือกรรมพันธุ์ ซึ่งมีส่วนในการเกิดโรคได้น้อยที่สุด

อาการของโรคมะเร็งเต้านม

ระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยอาจใช้มือตรวจคลำที่เต้านมและรอบๆ รักแร้แล้วเจอก้อนเนื้อ หรือบางคนแสดงอาการอื่นๆ เช่น มีน้ำนมไหลออก เต้านมขยายใหญ่ เจ็บหรือปวดที่บริเวณหัวนม ซึ่งในระยะแรก ก้อนมะเร็งจะยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ไม่แพร่กระจาย มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเข้าสู่ระยะท้ายๆ ที่ก้อนมะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ก็จะมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนเข้ามา เช่น ปวดตึงที่เต้านม น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว และปวดเมื่อยที่หลัง



การดูแลตัวเอง

-ผู้หญิงทุกคนควรตรวจมะเร็งเต้านมของตัวเองเป็นประจำทุกเดือน หรือโดยแพทย์และพยาบาลเป็นครั้งคราวเพื่อการวินิจฉัยและรักษา และผู้ที่มีความเสี่ยงควรตรวจวินิจฉัยเอ็กซ์เรย์แบบแมมโมแกรมปีละหนึ่งครั้ง
-ลดอาหารที่มีไขมันสูง และเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก
- ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง
- ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ ไม่อ้วน หรือผอมจนขาดสารอาหาร



4. มะเร็งลำไส้ หรือ Colon Cancer

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อที่บริเวณลำไส้มีการกลายพันธุ์ เกิดการแบ่งตัวและเพิ่มขึ้นของขนาดเยื่อบุภายในลำไส้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเซลล์เปลี่ยนสภาพก็จะเกิดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกขึ้นในลำไส้ และบานปลายจนเป็นเชื้อมะเร็ง สาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นหลัก เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก ไม่ค่อยทานผักกับผลไม้ ไม่ค่อยมีการขยับตัว หรือชาวออฟฟิศที่นั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคต่อระบบย่อยอาหารของร่างกายคนเราอย่างมาก เมื่อกระเพราะย่อยอาหารได้น้อย งานหนักก็ตกมาอยู่ที่ลำไส้นั่นเอง



อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกันเป็นประจำ บางครั้งก็เหมือนถ่ายไม่หมด มีเลือดปะปนกับอุจจาระ บางคนอาจจะรู้สึกท้องอืด หรือแน่นท้องตลอดเวลา คล้ายคนที่อาหารไม่ย่อย หากมีอาการเหล่านี้ให้ฉุกใจและไปพบแพทย์ทันที หรือถ้าโรคมะเร็งลำไส้เข้าสู่ระยะหลังๆ จะทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ซูบเซียวอ่อนแรง อุจจาระมีเลือดปนเป็นเวลานานและหน้ามืดบ่อยครั้ง บางรายอาการหนักถึงขั้นมีภาวะโลหิตจางร่วมด้วย

การดูแลตัวเอง

- เพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในอาหารแต่ละมื้อ เพราะกากใยในผักผลไม้จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารของร่างกายทำงานง่ายขึ้น
- ลดเนื้อแดง เนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก และต้องปรุงสุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ และขยับร่างกายหลังจากรับประทานอาหารบ้างเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นระบบย่อยอาหารภายในร่างกาย



5. มะเร็งผิวหนัง หรือ Skin Cancer



โรคมะเร็งผิวหนัง เป็นเนื้อร้ายที่เกิดบนผิวหนังและเยื่อบุชั้นผิวหนังใน เป็นการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด ทั้งบริเวณผิวหนังชั้นนอก ผิวหนังชั้นใน และเม็ดสีเมลานิน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังเป็นอันดับแรกก็คือ รังสี Ultra Violet ทั้ง UVA และ UVB ซึ่งร้ายแรงและเลี่ยงยากสุดๆ โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิศทั้งหลาย นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน แล้วยังต้องเจอแดดเช้าแดดเที่ยงเข้าไปอีก ต่อมาคือกรรมพันธุ์และเชื้อชาติ เพราะจากการศึกษาพบว่าคนผิวขาวมีความทนแดดน้อยกว่าคนผิวสี และมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งผิวหนังสูงกว่า

อาการของโรคมะเร็งผิวหนัง

เริ่มแรกจะมีอาการคัน มีแผลตกสะเก็ด หรือมีขุยขาวๆ ตรงบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า แขน และหลังมือ หรือถ้าผิวบริเวณริมฝีปากล่างแห้งมากจนตกสะเก็ด ก็เป็นสัญญาณเตือนได้เหมือนกัน บางรายอาจเจอตุ่มนูน ที่ทั้งหนาทั้งแข็ง และรอบๆ ตุ่มเป็นสีแดง สำหรับคนที่มีแผลอยู่ก่อนแล้ว หากมีเชื้อมะเร็งเกิดขึ้นก็จะทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรัง ที่รักษายังไงก็ไม่หาย ส่วนคนที่มีไฝหรือขี้แมลงวัน ก็ให้สังเกตดีๆ ว่ารูปร่าง สี หรือขนาดเปลี่ยนไปจากเดิมหรือเปล่า สำหรับมะเร็งผิวหนังในระยะที่รุนแรง เชื้อมะเร็งอาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง และเข้าสู่กระแสเลือดได้

การดูแลตัวเอง

-ไม่ควรให้ผิวหนังโดนแดดจนไหม้เกรียม หากต้องออกไปอยู่กลางแดด ให้สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด หมวกที่มีปีกกว้าง หรือใช้ร่มที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้
-สังเกตุความเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน
-ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน ควรทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 20-30 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง
-ลดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันทุกชนิด
-ดื่มน้ำให้ได้ 8-10 แก้ว ในแต่ละวัน เพื่อรักษาความชุ่มชื่นให้ผิว
-แผลเรื้อรังที่ผิวหนังแล้วรักษาไม่หายในสองสัปดาห์ ควรพบแพทย์




สำหรับหนุ่มสาววัยทำงานอ่านแล้วก็คงรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น หันมาให้ความสำคัญกับอาหารการกิน การพักผ่อนที่เพียงพอ และหาเวลาว่างออกกำลังกายบ้าง อย่างน้อยๆ ก็เป็นการป้องกันและรักษาสุขภาพเราให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้ได้ หรือใครมองการณ์ไกลไปถึงขั้นการเจ็บป่วยรักษา ปัจจุบันก็มี ประกันภัยโรคมะเร็ง ออกมาคุ้มครองสุขภาพและชีวิตมากมาย คงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนวัยทำงานที่ต้องนึกถึงความมั่นคงของคนในครอบครัวเอาไว้ ส่วนใครกำลังมองหาวิธีการออกกำลังกายแบบง่ายๆ เพื่อสุขภาพที่ดีก็ตามไปอ่าน ออกกำลังบนเตียง ภารกิจสร้างซิกแพคได้ภายใน 5 นาที กันเลยจ้า

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ



 

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook