ตักบาตร อย่างใส่ใจ "ลดหวาน มัน เค็ม" เพื่อสุขภาพของพระสงฆ์

ตักบาตร อย่างใส่ใจ "ลดหวาน มัน เค็ม" เพื่อสุขภาพของพระสงฆ์

ตักบาตร อย่างใส่ใจ "ลดหวาน มัน เค็ม" เพื่อสุขภาพของพระสงฆ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สธ. ชวนคนไทยตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม หวั่นสุขภาพพระสงฆ์แย่

กระทรวงสาธารณสุข เผยพระสงฆ์ร้อยละ 55 เสี่ยงป่วยด้วยโรคโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ชวนคนไทยทำบุญตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็มป้องกันการเกิดโรค

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องในวันวิสาขบูชา ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง แต่หากไม่ใส่ใจและคำนึงถึงเมนูที่จะนำมา การตักบาตรก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ได้ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเมนูอาหารที่ไม่หลากหลายและมักประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูงมากเกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกินเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจากการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ใน 2554 จำนวน 98,561 รูป พบว่า พระสงฆ์ร้อยละ 5 หรือ 5,381 รูป อยู่ในภาวะอ้วน ร้อยละ 55 ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน พระสงฆ์บางรูปป่วยมากกว่า 1 โรค ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการฉันอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เพราะไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรประกอบกับสถานภาพพระภิกษุสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ประชาชนจึงควรทำบุญตักบาตรด้วยอาหารเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม

ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารเมนูชูสุขภาพ ได้แก่ การเลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาว เมนูที่ให้ใยอาหารสูง เช่น ผักและผลไม้ต่าง ๆ เพื่อจะได้มีกากอาหารช่วยในการขับถ่าย เมนูที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมจืดหรือนมพร่องมันเนย ปลาเล็กปลาน้อย ผัดผักที่มีใบเขียวเข้ม เต้าหู้แข็ง เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกไม่ให้เปราะบาง แตกหรือหักง่าย เมนูที่ให้ไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกายซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน หากต้องการปรุงอาหารประเภทผัดหรือกะทิก็ต้องใช้น้ำมันและกะทิแต่น้อย เน้นการต้ม นึ่ง อบ ยำหรือทำเป็นน้ำพริก ปรุงจากอาหารอย่างน้อยครบ 4 หมู่ และเพิ่มผลไม้เพื่อให้ครบ 5 หมู่ อาทิ เมนูลาบปลา ปลานึ่งผัก แกงส้ม แกงเลียง แกงเหลือง ต้มยำปลา ยำมะม่วง ยำสมุนไพร ควรมีผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอและเลือกซื้อจากร้านจำหน่วยอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก ใหม่ และปรุงจากวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ มีการป้องกันแมลงวัน ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และใช้อุปกรณ์ หยิบจับอาหารแทนการใช้มือ

"ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่สะดวกในการเลือกเมนูชูสุขภาพและหันมาพึ่งเครื่องกระป๋อง อาทิ อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ก่อนเลือกซื้อจึงควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียดโดยต้องมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร ชื่อ ที่ตั้ง สถานที่ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต ชื่อปริมาณวัตถุ เจือปนในอาหาร น้ำหนักสุทธิ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มี รอยรั่วเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


แหล่งข่าวโดย » กรมอนามัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook