ทำความรู้จัก "แมงกะพรุนกล่อง" มหันตภัยใต้สมุทร และวิธีปฐมพยาบาล

ทำความรู้จัก "แมงกะพรุนกล่อง" มหันตภัยใต้สมุทร และวิธีปฐมพยาบาล

ทำความรู้จัก "แมงกะพรุนกล่อง" มหันตภัยใต้สมุทร และวิธีปฐมพยาบาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แมงกะพรุนกล่อง มหันตภัยใต้สมุทร

แมงกะพรุนกล่อง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตัวต่อทะเล" หรือนักพ่นพิษแห่งท้องทะเล เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในไฟลัม Cnidaria กลุ่ม Cubozoa ลำตัวคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ ที่ด้านสูงมากกว่าด้านกว้าง โดยมีลักษณะโปร่งใส อาจมีสีฟ้าอ่อน น้ำตาล เหลือง หรือชมพู มีหนวดยื่นออกจากมุมทั้ง 4 มุม อาจยาวได้ถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ แมงกะพรุนกล่องสามารถเคลื่อนที่พุ่งขึ้นสู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็ว และว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที จึงสามารถจับปลา และสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย มักอาศัยอยู่ในทะเลเขตอุ่น เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบในประเทศไทยที่เกาะหมาก จังหวัดตราด และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

แมงกะพรุนกล่อง จำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยพิจารณาจากลักษณะเด่นที่หนวด (Tentacle) ได้แก่

- Single Tentacle คือมีหนวดเส้นเดียว อยู่ที่มุมทั้ง 4 มุม จัดอยู่ในลำดับ (Oder) Carybdeida
- Multi Tentacles คือมีหนวดหลายเส้น อยู่ที่มุมทั้ง 4 มุม จัดอยู่ในลำดับ (Oder) Chrodropida

กลไกการออกฤทธิ์ และพิษของแมงกะพรุนกล่อง
แมงกะพรุนมีหนวด (Tentacle) ซึ่งเป็นที่อยู่ของกระเปาะเก็บเข็มพิษ (Cnidoblast ) ใช้ในการป้องกันตัว และจับเหยื่อ ภายในกระเปาะจะมีเข็มพิษ (Nematocyst) ขดอยู่ เมื่อหนวดของแมงกะพรุนสัมผัสกับผิวหนังจะกระตุ้นให้กระเปาะปล่อยเข็มพิษออกมา พร้อมกับปล่อยพิษออกมาด้วย พิษของแมงกะพรุนเป็นพิษในกลุ่ม Proteolytic Enzyme ซึ่งมีพิษต่อผิวหนัง ระบบประสาท และหัวใจ

ลักษณะการออกฤทธิ์ของพิษแมงกะพรุนกล่อง

1. ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้
2. ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกจากพิษที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผลที่ตามมาคือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
3. ผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น และกดระบบประสาททำให้หยุดหายใจได้

วิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่สัมผัสแมงกะพรุนกล่อง

กรณีที่ผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวดี (หายใจไม่ปกติ และชีพจรเต้นไม่ปกติ)

1. ทำการปั๊มหัวใจให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาก่อน โดยกดบริเวณหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย
2. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
3. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการถูบริเวณแผล
4. นำตัวส่งโรงพยาบาล

กรณีที่ผู้บาดเจ็บรู้สึกตัวดี (หายใจปกติ และชีพจรปกติ)

1. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
2. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดตามร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณแผล
3. นำตัวส่งโรงพยาบาล

 

ขอบคุณข้อมูล จาก  

ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

http://www.fisheries.go.th/mf-emdec/mainweb/km_boxjellyfish.html

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook