อภ.เตือน ใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อยอันตราย

อภ.เตือน ใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อยอันตราย

อภ.เตือน ใช้ยาคุมฉุกเฉินบ่อยอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การเภสัชกรรมเตือนวัยรุ่นไทยที่นิยมใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินบ่อยเกินความจำเป็น อันตรายและอาจมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
ภญ.วนิชา ใจสำราญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การคุมกำเนิด นับเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ที่ยังไม่ต้องการมีบุตร ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเลือกวิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากมีความสะดวกในการซื้อและพกพา วิธีการรับประทานไม่ยุ่งยาก ใช้สะดวก และค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก โดยมี 2 รูปแบบ คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน และยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินหรือยาคุมฉุกเฉิน เป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยยาคุมฉุกเฉินสามารถลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้ แต่ประสิทธิภาพจะลดลงไปตามระยะเวลาที่รับประทานยา ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉิน ย่อมมีผลข้างเคียงหลายประการ เช่น ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ มาช้า หรือมาแบบกะปริดกะปรอย และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และหากใช้บ่อยและต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจมีโอกาสในการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

ภญ.วนิชา กล่าวต่อว่า ยาคุมฉุกเฉินมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น คำว่า “ฉุกเฉิน” ในที่นี้หมายความถึง การมีเพศสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาที่มีการวางแผนครอบครัวและทำการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่เกิดความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ เช่น การรั่วหรือฉีกขาดของถุงยางอนามัย การลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป หรือกรณีผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินชนิดที่ใช้กันแพร่หลาย เป็นยาที่มีเฉพาะโปรเจสตินอย่างเดียว ยาคุมฉุกเฉินที่จำหน่ายในประเทศไทย จำหน่ายเป็นกล่อง มียากล่องละ 1 แผง แต่ละแผงมียาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด แต่ละเม็ดประกอบด้วยตัวยาที่เป็นฮอร์โมนขนาดสูง คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เม็ดละ 750 ไมโครกรัม โดยลีโวนอร์เจสเตรล นี้จัดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์กลุ่มเดียวกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาขึ้นและยากต่อการฝังตัวของไข่หลังการปฏิสนธิ นอกจากนี้ยังทำให้บริเวณปากมดลูกมีสารคัดหลั่งที่มีลักษณะเหนียวข้นออกมา ทำให้ตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น การรับประทานยาที่ถูกต้อง คือ รับประทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุด หลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน โดยไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง และจะต้องรับประทานยาเม็ดที่สองหลังจาก รับประทานยาเม็ดแรกไม่เกิน 12 ชั่วโมง หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาแต่ละเม็ด ต้องรับประทานยาใหม่ และไม่แนะนำให้รับประทานยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน
“การรับประทานยาคุมฉุกเฉินไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตั้งครรภ์ แต่เป็นเพียงแค่การไปลดโอกาสตั้งครรภ์ลงจากเดิม หากคิดจะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แนะนำให้ใช้การป้องกันด้วยวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากกว่า เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นวิธีที่ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน การใส่ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิด ชนิดแผ่นแปะ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาคุมฉุกเฉิน ควรใช้กรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ควรรับประทานบ่อย และต้องศึกษารายละเอียดทำความเข้าใจวิธีการรับประทานยาอย่างถูกต้อง รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจตามมา ที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการใช้ยาจะดีที่สุด” ภญ.วนิชา กล่าว


แหล่งข่าวโดย » กองประชาสัมพันธ์องค์การเภสัชกรรม 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook