5 เรื่องที่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับโรค "มือเท้าปาก"

5 เรื่องที่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับโรค "มือเท้าปาก"

5 เรื่องที่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับโรค "มือเท้าปาก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่เรารู้กันดีว่า โรคมือเท้าปาก นั้นเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยสามารถพบได้ในประเทศไทยอยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งในบางปีก็จะมีการระบาดอยู่หลายครั้ง แพร่กระจายกันไปในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด มักจะเริ่มต้นระบาดในช่วงฤดูฝน มีอัตราการระบาดสูงมาก แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเด็กเล็กแดงคงจะรู้จักกับโรคนี้ เข้าใจถึงลักษณะการเกิดเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่าลูกๆ เคยเป็นโรคนี้กันมาก่อนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลบางส่วนที่สร้างความไม่เข้าใจอยู่บ้าง วันนี้ Sanook! Health เลยจะขอยก 5 เรื่องเกี่ยวกับโรคนี้ที่ถูกมองข้ามไป เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จะได้ป้องกันการเกิดได้อย่างถูกจุด

 

เรื่องที่ 1 โรคมือเท้าปาก เมื่อเป็นแล้ว ก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก

โรคมือเท้าปากนั้นมีความแตกต่างจากการติดเชื้อไวรัสในโรคอื่นๆ อย่าง หัด หรืออีสุกอีใส ที่มีต้นตอมาจากไวรัสสายพันธุ์เดียวกัน เมื่อเป็นแล้วก็จะไม่เป็นซ้ำอีก เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานที่จะยับยั้งเชื้อนั้นไว้ไม่ให้แผลงฤทธิ์ แต่สำหรับโรคมือเท้าปาก เกิดจากไวรัสในกลุ่ม เอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีหลายชนิด หลายสายพันธุ์ บางครั้งจึงยากที่จะแยกให้ออกว่าเป็นไวรัสตัวใด เพราะอาการที่เห็นก็จะแสดงออกมาคล้ายๆ กัน

ข้อแตกต่างของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ถึงแม้ภูมิคุ้มกันจะสามารถป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากไวรัสชนิดเดิมได้ แต่ก็อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสในสายพันธุ์อื่นๆ ถึงแม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ เอนเตอโรไวรัส ก็ตาม จึงไม่แปลกที่จะกลับมาเป็นโรคเดิมซ้ำได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาจากเชื้อไวรัสที่ต่างชนิดกัน

 

เรื่องที่ 2 โรคมือเท้าปาก เป็นได้ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง

ส่วนใหญ่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากมักมีอาการแสดงออกที่ไม่รุนแรง มีไข้ต่ำ หรือไม่มีไข้ก็ได้ อีกทั้งยังมีแผลในปากลักษณะคล้ายกับแผลร้อนในที่บริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้านหลังคอหอย กระพุ้งแก้ม รวมถึงมีผื่นแดง หรือตุ่มน้ำขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งอาจจะพบได้ที่ก้น หรือหลังเท้าเพิ่มเติม โดยตุ่ม หรือผื่นน้ำเหล่านี้อาจจะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ มีอาการซึม กินนอนไม่ได้อยู่ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นก็จะดีขึ้น

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 อาจมีอาการที่รุนแรงกว่า เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ซึ่งอาจเป็นการอักเสบที่ก้านสมอง ทำให้เกิดภาวะการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากภาวะปอดจมน้ำ มีเลือดออกในปอด และภาวะช็อก โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากไวรัสชนิดนี้ อาจไม่มีผื่นขึ้นให้เห็นแบบโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นก็ได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อไวรัสค็อกแซคกี เอ 16 ก็อาจทำให้มีอาการที่รุนแรงได้จากภาวะแทรกซ้อนเช่นกัน ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือภาวะช็อกได้ แต่การเกิดโรคจากไวรัสชนิดนี้จะพบได้น้อยกว่าไวรัสเอนเตอโร 71 อยู่มาก

 

เรื่องที่ 3 หากมีการระบาดของ โรคมือเท้าปาก อาจต้องปิดโรงเรียน

เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกนั้นป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก จะต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เพราะหากเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นในหลายๆ ราย โรงเรียนก็จะพิจารณาปิดชั้นเรียนที่เกิดการระบาดขึ้นเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หรือหากเกิดระบาดขึ้นในหลายชั้นเรียน ก็จะต้องปิดทั้งโรงเรียนเพื่อเป็นการยับยั้งการระบาด

 

เรื่องที่ 4 โรคมือเท้าปาก ไม่มียาที่ใช้รักษาเฉพาะเจาะจง

หลักๆ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการ เนื่องจากไม่มียาเฉพาะที่ใช้ในการรักษา การรักษาที่ว่าจึงต้องทำไปตามลักษณะที่เกิดขึ้น อย่าง เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ หรือหยดยาชาลงในปากเพื่อลดอาการเจ็บจากแผลที่เกิดภายในช่องปาก ที่สำคัญ จะต้องมีการสังเกตภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น อาทิ อาเจียนมาก เซื่องซึม ปวดหัวมาก พูดจาสับสน หายใจเหนื่อยๆ ชีพจรเต้นเบา และเร็ว ปลายมือปลายเท้าซีดเย็น หากมีอาการอย่างที่กล่าวมา จะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการดูแลอย่างใกล้ชิดทันที

 

เรื่องที่ 5 โรคมือเท้าปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสเอนเตอโร 71 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมือเท้าปาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือสำหรับการป่วยด้วยเชื้อนี้ทุกๆ ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook