“เคี้ยวน้ำแข็ง” เทรนด์ใหม่วัยรุ่นจีน อันตรายเสี่ยงฟันบิ่น-แตก รักษายาก

“เคี้ยวน้ำแข็ง” เทรนด์ใหม่วัยรุ่นจีน อันตรายเสี่ยงฟันบิ่น-แตก รักษายาก

“เคี้ยวน้ำแข็ง” เทรนด์ใหม่วัยรุ่นจีน อันตรายเสี่ยงฟันบิ่น-แตก รักษายาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกระแสออนไลน์ของฝั่งวัยรุ่นจีนที่นิยมถ่ายคลิปตัวเองขณะกัดกินน้ำแข็งสวยๆ เพื่อให้ได้เสียงเคี้ยวน้ำแข็งดังชัดๆ ทันตแพทย์จากเพจ Doctor กล้วย ออกโรงเตือนประชาชนชาวไทยอย่าทำตาม เพราะการใช้ฟันบดเคี้ยวน้ำแข็งอย่างรุนแรง อาจทำให้ฟันสึก บิ่น และแตกร้าวได้ ซึ่งหากฟันมีอาการดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกทรมานจากการเสียวฟันขั้นรุนแรง หากอันตรายกว่านั้นอาจถึงขั้นฟันตายได้เลยทีเดียว

ทั้งนี้ การรักษาฟันที่หัก บิ่น หรือแตก นอกจากจะยุ่งยาก และผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดด้วยแล้ว ยังมีค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลักเกือบหมื่น ไปจนถึงหลักแสนได้อีกด้วย

 

ฟันบิ่น

ฟันบิ่น คืออาการที่บางส่วนของฟันหักออกมา แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวดฟันแต่อย่างใด เพราะบางส่วนของฟันที่บิ่นไปอาจเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลกระทบไปถึงรากฟัน หรือเส้นประสาทใดๆ ของฟัน หากฟันบิ่นเพียงเล็กน้อย อาจจะไม่ต้องพบแพทย์ก็ได้ แต่ขอบฟันอาจไม่เรียบเนียนสวยเหมือนเดิม และอาจทำให้ความแข็งแรงของฟันโดยรวมไม่เหมือนเดิม

วิธีการรักษาฟันบิ่น

แพทย์อาจทำการครอบฟัน หรือเคลือบผิวฟันใหม่

 

ฟันหัก หรือ แตก

หลายคนกัดอาหารแข็งๆ แล้วถึงขั้นฟันหักเป็นชิ้นใหญ่ หรือแตกเป็นแนวตั้ง หากเป็นการแตกในลักษณะเช่นนี้ ถึงแม้ไม่มีอาการปวดก็ควรรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมา บางคนอาจมีอาการปวดทันที ค่อยๆ ปวด หรืออาจจะไม่ปวด แต่จะค่อยๆ รู้สึกเสียวฟันมากขึ้น จากการที่ฟันเสียหายไม่เหมือนเดิม

วิธีรักษาฟันหัก หรือแตก

หากการหัก หรือแตกของฟันมีผลต่อสารเคลือบฟัน และเนื้อฟัน แพทย์อาจเลือกวิธีครอบฟันให้ เพราะเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด ผู้ป่วยอย่าลืมเก็บฟันไปให้แพทย์ตรวจด้วย

 

ฟันหลุด

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกัดเคี้ยวของแข็ง คือ ฟันหลุด หากรู้ตัวว่าฟันหลุดออกมาเมื่อไร ให้รีบเก็บฟันไปล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วใส่ฟันกลับเข้าไปที่เดิม ห้ามปล่อยให้ฟันแห้ง จากนั้นก็เดินทางไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะหากสามารถรักษาเซลล์ของรากฟันเอาไว้ได้ ก็จะมีโอกาสที่จะปลูกถ่ายรากฟันกับฟันเดิมได้

วิธีรักษาฟันหลุด

หากเซลล์ของรากฟันเดิมยังคงอยู่ในสภาพดี แพทย์อาจเลือกวิธีปลูกถ่ายเซลล์รากฟัน เพื่อต่อเข้ากับฟันเดิม และใช้วิธีครอบฟัน โดยโอกาสที่จะสามารถปลูกถ่ายเซลล์รากฟันได้สำเรจ คือหลังจากฟันหลุดภายใน 30 นาทีแรก จากนั้นหากไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็ยังคงพอมีหวังอยู่ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษารากฟันใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากที่ฟันเริ่มมั่นคง

แต่หากไม่สามารถรักษารากฟันเดิมเอาไว้ได้ แพทย์ก็จะแนะนำให้ใส่ฟันเทียมทดแทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง เช่น การเคี้ยวบดอาหาร การพูด การเคลื่อนตัวของฟันข้างๆ และฟันที่ต้องสบกัน ข้อต่อกรรไกรผิดปกติจากการเคี้ยวอาหารข้างที่มีฟันมากกว่า และกระดูกขากรรไกรอ่อนแอ

 

จะเห็นได้ว่า แค่อาการแข็งๆ ที่กัดกันไม่กี่ครั้ง อาจเปลี่ยนชีวิตของคุณไปได้เลยทีเดียว ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการกัด ขบ เคี้ยวของแข็ง ทั้งอาหารแข็งๆ อย่างน้ำแข็ง ลูกอม เมล็ดผลไม้ต่างๆ รวมไปถึงการใช้ฟันในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ฟันหน้าเปิดขวด งัดกระป๋อง ดึงถุงพลาสติกเหนียวๆ เป็นต้น เพราะหากสูญเสียฟันไปแล้ว นอกจากจะต้องเสียเวลา เสียความรู้สึกแล้ว ยังเสียเงินไม่ใช่น้อยอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook