"มะเร็งปอด" ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

"มะเร็งปอด" ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

"มะเร็งปอด" ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณหมอมักจะเอ่ยปากกับคนไข้ที่ป่วยเป็น โรคมะเร็งปอด อยู่เสมอว่า โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครๆ เขาคิดกัน และมักเป็นประโยคแรกๆ ที่ผู้ป่วยได้ยินหลังจากที่รับรู้ว่าตนเองมีเซลล์มะเร็งปอดอยู่ในร่างกาย อย่างแรก ก็เพื่อให้กำลังใจกับผู้ป่วย อย่างที่สอง สิ่งที่ออกจากปากแพทย์ผู้รักษายังไงก็ต้องเป็นไปตามนั้น มะเร็งปอดไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการด้านการรักษาก้าวหน้า และมีวิธีการรักษาใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก เริ่มตั้งแต่การวินิจฉัย ไปจนถึงการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ตลอดจนระยะที่มะเร็งปอดแพร่กระจาย จึงไม่ต้องเป็นกังวลว่าอาการที่เป็นอยู่จะไม่มีหนทางทำให้ดีขึ้นได้

รู้จัก "มะเร็งปอด" ให้มากขึ้น

มะเร็งปอด จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก โดยชนิดที่ 2 นี้พบได้มากถึง 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด อีกทั้งใน 2 ชนิดนี้ ก็ยังสามารถแยกย่อยออกได้เป็นชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด อาทิ squamous cell carcinoma, adenocarcinoma และอื่นๆ ซึ่งในกลุ่ม adenocarcinoma นี้ ปัจจุบันได้มีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ที่มีการพัฒนาขึ้น เกิดผลตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีทีเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่วงการแพทย์ยังพัฒนาไปได้ไม่มาก การวินิจฉัยมะเร็งปอดยังคงทำได้ยาก พอเข้าสู่ยุคที่มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย อย่าง การทำสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จนมาถึงการสแกนด้วย PET Scan ตลอดจนเทคนิคอื่นๆ ที่ใช้ประกอบ อย่าง การส่องกล้องหลอดลมและการเจาะ การตรวจชิ้นเนื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวินิจฉัยมะเร็งปอด เมื่อทุกกระบวนการมีความทันสมัย การวินิจฉัยของแพทย์ก็เป็นไปด้วยความรวดเร็ว คราวนี้เราก็สามารถจับตาดูได้ว่าเซลล์มะเร็งปอดอยู่ที่บริเวณใดของร่างกาย

แล้วอาการแบบไหนล่ะ ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นมะเร็งปอด ?

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยก็มักจะมาพร้อมกับอาการไอเรื้อรัง บางครั้งก็จะมาด้วยอาการทางระบบประสาท แต่ถ้าเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปอยู่ที่สมอง หรือไขกระดูกสันหลัง ก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆ เพิ่มได้อีก อาทิ แขนขาอ่อนแรง หรือชา , กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ ในบางรายอาจมีอาการปวดกระดูกมาก หากเซลล์มะเร็งปอดนั้นเกิดกระจายไปอยู่ที่กระดูก

การรักษาที่เหมาะสมต้องเป็นอย่างไร ?

สำหรับการรักษามะเร็งปอด ในระยะเริ่มแรกนั้น จะรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากเทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบันได้พัฒนาไปกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษามากพอสมควร ส่วนการรักษามะเร็งปอดในระยะลุกลาม ก็จะมีการให้ยาเคมีบำบัด โดยฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำเหมือนกับเวลาที่ให้น้ำเกลือ ซึ่งในอดีต ยาเคมีบำบัดที่ใช้กันอยู่นั้นมีเพียงไม่กี่ชนิด แต่มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย อาทิ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และเกิดการติดเชื้อง่าย เพราะยาเคมีบำบัดจะเข้าไปกดการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยบางรายกลัวที่จะรักษาด้วยวิธีนี้เป็นอย่างมาก

แต่อย่างที่ได้บอกให้รู้กันไปแล้วว่า มะเร็งปอดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ในปัจจุบันก็มีการพัฒนายาเคมีบำบัดชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาหลายตัวที่มีผลข้างเคียงในการรักษาน้อยกว่าตัวเดิมมาก อย่างไรก็ตามยังคงมียาเคมีบำบัดชนิดเดิมบางตัวที่จำเป็นต้องนำกลับมาใช้รักษาผู้ป่วย อีกทั้งก็ได้มียาตัวใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาควบคู่เพื่อใช้แก้อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจาก After one cycle of chemotherapy หรือผลข้างเคียงหลังการใช้ยาเคมี อาทิ ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน , ยาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เป็นต้น จึงรับรองได้ว่า ยาเคมีบำบัด ที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดยังให้ผลการรักษาที่ดี และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเดิมมาก

"ยีน" ที่ผิดปกติ มีผลต่อการเกิดมะเร็งปอด

ยากลุ่มปัจจุบันที่มีการพัฒนาขึ้นนั้นใช้ได้ผลดีในกลุ่มมะเร็งที่เป็น Adenocarcinoma ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาแบบตรงจุด หรือการรักษาแบบมุ่งเป้า ความหมายของจุด หรือเป้านั้น ก็มีพื้นฐานมาจากการเกิดของมะเร็ง โดยนักวิทยาศาสตร์และหมอมะเร็งได้มีการค้นพบว่ามะเร็งปอด เกิดได้จากหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญก็คือลักษณะทางพันธุกรรม หรือยีนภายในร่างกายเกิดการกลายพันธุ์ ในแบบที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดพันธุกรรมจากครอบครัว ยีนที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอดนั้นมีอยู่หลักๆ 2 ชนิด ดังนี้

  • ชนิดที่ 1 : การกลายพันธุ์ของ Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) พบได้ในคนผิวขาวประมาณ 10 - 20% แต่พบในคนเอเชียได้สูงที่สุดถึง 50 - 70% พบมากในคนที่ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกบุหรี่มานานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป

  • ชนิดที่ 2 :  การสลับที่และการรวมกันของยีน Echinoderm microtubule-associated protein-like 4 fused with the anaplastic lymphoma kinase (EML4-ALK fusion gene) พบได้ประมาณ 5 - 7% และพบได้ส่วนมากในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่

นับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่คนที่สูบบุหรี่กลับไม่พบความผิดปกติของยีนทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาต้านเฉพาะที่ได้บอกไปแล้วได้

รู้ได้อย่างไรว่า "ยีน" มีความผิดปกติ ?

ในปัจจุบันหากจะตรวจวินิจฉัยว่ายีนทั้ง 2 ชนิดมีความผิดปกติหรือไม่ ก็จะตรวจได้จากชิ้นเนื้อของมะเร็งปอดที่ทำการผ่าตัด หรือเจาะออกมา ซึ่งหากมีความผิดปกติก็มียาที่ใช้ยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งปอดได้แบบจำเพาะในผู้ป่วย โดยเป็นยารับประทาน คือ กลุ่มยาต้าน EGFR และยาต้าน ALK ซึ่งผลการตอบสนองต่อยาต้านมะเร็งของทั้ง 2 กลุ่มนี้ให้ผลที่ดีมากถึง 60 - 70% และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ความแตกต่างระหว่างกลุ่มยาในปัจจุบัน กับ ยาเคมีบำบัดแบบเดิม

เมื่อนำยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ไปเปรียบเทียบกับการใช้ยาเคมีบำบัดที่ให้กันทางเส้นเลือดดำ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็จะมีความแตกต่าง คือ ยาใน 2 กลุ่มอาจทำให้เกิดผื่น ผิวแห้ง เป็นสิว ท้องเสีย การเจริญอาหารลดลง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เพิ่มขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงระบบอื่นๆ แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็สามารถรับและทนผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ดี ผู้ป่วยบางรายมีการตอบสนองต่อยาดี ตัวยาสามารถเข้าไปควบคุมมะเร็งปอดได้เป็นเวลานานหลายปี ทั้งนี้ก็มีผู้ป่วยบางรายที่เกิดอาการดื้อยาเมื่อใช้ยาไปสักระยะเวลาหนึ่ง แต่ผู้ป่วยก็สามารถเปลี่ยนมาใช้การรักษาด้วยเคมีบำบัดแทนได้

นอกจากนี้ ก็ยังมียาอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นยาประเภท Targeted Drug เช่นเดียวกับยากลุ่มที่กล่าวถึงไป โดยยาในกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยยับยั้งการสร้างเส้นเลือดในก้อนเนื้อมะเร็ง โดยจะฉีดเข้าที่เส้นเลือดดำและใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด อีกทั้งในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์และหมอรักษามะเร็งจากทั่วโลกกำลังศึกษาวิจัยต้นเหตุและกลไกที่ทำให้เกิดอาการดื้อยา ไปจนถึงพัฒนาตัวยาชนิดใหม่ๆ เพื่อใช้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเกิดอาการ รวมถึงได้มีการค้นพบยีนกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ ในมะเร็งปอด เชื่อได้ว่าในอีกไม่นาน ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีโอกาสหายจากโรคร้ายนี้ในเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น จึงเป็นคำตอบว่า ทำไม? มะเร็งปอดจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่คิด

เพิ่มเติม การรักษาหลักๆ ของมะเร็งปอดในระยะที่มีการลุกลาม ยังคงเป็นการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ส่วนยาต้านมะเร็งแบบตรงจุดนั้น แพทย์จะให้เฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีนอย่างที่กล่าวไปแล้วเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook